ชาติไทย

ธงชาติ

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการออกพระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงหลายครั้ง เช่น พระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม ร.ศ. 110 พระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทร์ศก 116 และพระราชบัญญัติรัตนโกสินทร์ศก 118 ทุกฉบับ ได้ยืนยันถึงลักษณะของ ธงชาติว่าเป็นพื้นแดงกลางเป็นรูปช้างเผือก ไม่ทรงเครื่องหันหน้าเข้าเสาทั้งสิ้น

รัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ออกประกาศแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธงรัตนโกสินทร์ศก 129 เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2459 แก้ไขลักษณะธงชาติเป็น "ธงพื้นแดง กลางเป็นรูปช้างเผือก ทรงเครื่องยืนแท่น หันหลังเข้าเสา" ประกาศนี้ให้เริ่มใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2459 เป็นต้นไป

ปี พ.ศ. 2460 ได้มีการแก้ไขลักษณะธงชาติอีกครั้ง โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2460 ออกประกาศเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2460 ลักษณะธงชาติมีดังนี้คือ เป็นรูปธงสี่เหลี่ยมรี ขนาดกว้าง 2 ส่วน ยาว 3 ส่วน มีแถบ สีน้ำเงินแก่ กว้าง 1 ใน 3 ของความกว้าง ธงอยู่กลางมีแถบสีขาว กว้าง 1 ใน 6 ของความกว้างของธงข้างละแถบแล้วมีแถบแดงกว้างเท่ากับแถบขาวประกอบข้างนอก อีกข้างละแถบพระราชทานนามว่า "ธงไตรรงค์"

 

ความหมายของธงไตรรงค์ คือ

สีแดง หมายถึง ชาติและความสามัคคีของคนในชาติ

สีขาว หมายถึง ศาสนา ซึ่งเป็นเครื่องอบรมสั่งสอนจิตใจให้บริสุทธิ์

สีน้ำเงิน หมายถึง พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขของประเทศ

สมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้ตราพระราชบัญญัติธงเป็นฉบับแรก ในรัชกาลเมื่อ พ.ศ. 2479 ในส่วนที่ว่าด้วยธงชาตินั้นยังคงใช้ธงไตรรงค์ แต่ได้อธิบายลักษณะให้เข้าใจง่ายยิ่งขึ้น คือ ลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยม

เมืองหลวง

กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองหลวงของประเทศไทย มีเนื้อที่กว้าง 1,549 ตารางกิโลเมตร เป็นศูนย์กลางแห่งความเจริญต่าง ๆ ของชาติแต่เดิม กรุงเทพมหานคร มีฐานะเป็นจังหวัด ๆ หนึ่งเรียกชื่อตามราชการว่า จังหวัดพระนคร ต่อมาได้รวมกับจังหวัดธนบุรี ซึ่งตั้งอยู่ทางฝั่งขวาแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงข้ามกับกรุงเทพฯ ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 24 ลงวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2514 เป็นจังหวัดเดียวกันโดยเรียกชื่อใหม่ว่า นครหลวงกรุงเทพธนบุรี และต่อมาได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2515 ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 335

รัฐบาลและการปกครอง

ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศ มีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าคณะรัฐบาล ประเทศไทยมีการจัดระเบียบการปกครองภายในประเทศอย่างเป็นระบบ มาช้านานแล้ว ซึ่งยังผลให้ประเทศไทยมีความเป็นปึกแผ่นและสามารถรักษาเอกราชมาได้จนถึงทุกวันนี้ การปกครองของไทยได้ปรับและเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับกาลสมัย และเป็นไปตามความต้องการของประเทศชาติเสมอมา ทำให้วิธีดำเนินการปกครองแต่ละสมัยแตกต่างกันไป

สมัยสุโขทัย (พ.ศ. 1781 - 1981)

การปกครองเป็นแบบพ่อปกครองลูก ผู้ปกครองคือพระมหากษัตริย์ คำนำหน้าของ พระมหากษัตริย์ไทยในสมัยนั้นจึงใช้คำว่า "พ่อขุน"

สมัยอยุธยา (พ.ศ. 1893 - 2310)

เริ่มต้นเมื่อพระเจ้าอู่ทอง ทรงตั้งกรุงศรีอยุธยาขึ้นเป็นราชธานีเมื่อราวปี พ.ศ. 1893 คำที่ใช้เรียกพระเจ้าอู่ทองมิได้เรียก "พ่อขุน" อย่างที่เรียกกันมาครั้งสุโขทัย แต่เรียกว่า "สมเด็จ พระพุทธเจ้าอยู่หัว" พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะเทวราชหรือสมมติเทพ เป็นองค์รัฐาธิปัตย์ ปกครองแผ่นดิน

สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (พ.ศ. 2325 - 2475)

ได้นำเอาแบบอย่างการปกครองในสมัยสุโขทัย และอยุธยามาผสมกัน ฐานะของพระมหากษัตริย์เปลี่ยนแปลงไป ไม่ได้อยู่ในฐานะเทวราชหรือสมมติเทพดังแต่ก่อน ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับราษฎรมีความใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น ถึงแม้จะปกครองตามระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่มีลักษณะประชาธิปไตยแฝงอยู่ในหลายรูปแบบ เช่น แทรกอยู่ในการปกครองพระมหากษัตริย์ทรงให้สิทธิเสรีภาพแก่ประขาชนในการดำรงชีวิต การปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สิ้นสุดลงเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 โดยคณะราษฎร์ การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นของการ ปกครอง ในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มีศูนย์อำนาจการปกครองอยู่ที่ 3 สถาบันสำคัญคือ สถาบันนิติบัญญัติ ซึ่งมีรัฐสภาเป็นผู้ใช้อำนาจในการออกกฎหมาย สถาบันบริหารซึ่งมีคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ใช้อำนาจบริหาร และสถาบันตุลาการซึ่งมีศาลสถิตยุติธรรมเป็นผู้ใช้อำนาจหน้าที่พิพากษาอรรถคดีในพระปรมาภิไธย

เพลงชาติ

เพลงชาติเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติ แสดงความเป็นเอกราชของชาติ ไม่เป็นเมืองขึ้น ของใคร เป็นแหล่งรวมใจของคนในชาติให้เป็นจุดเดียวกัน สร้างความรู้สึก สำนึก ในความเป็นพี่น้องสร้างความภูมิใจในศักดิ์ศรี สิทธิเสรีภาพระหว่างคนในชาติและเพื่อปลุกใจให้เกิดความรักชาติ ความคิดเรื่องเพลงประจำชาติ เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ. 2414 โดยได้รับ อิทธิพลตะวันตก ซึ่งมีเพลงประจำชาติมาก่อน แต่เดิมไทยใช้เพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นเพลงประจำชาติ เพราะคำว่า "ชาติ" ของไทยนั้น หมายถึงพระมหากษัตริย์ เพลงชาติของไทยได้เปลี่ยนแปลงหลายครั้ง จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2482 เพลงชาติฉบับที่ 7 ได้เกิดขึ้น ซึ่งเป็นเพลงชาติฉบับปัจจุบัน โดยทางรัฐบาลได้ประกาศ ประกวดเพลงชาติขึ้นใหม่ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2482 ผลการประกวด ปรากฏผู้ชนะได้แก่ นายพันเอก หลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์) ส่งในนามของกองทัพบก รัฐบาลได้ประกาศใช้เพลงชาติไทยฉบับปัจจุบัน เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2482 โดยใช้เพลงชาติ ของพระเจนดุริยางค์ตามแบบที่มีอยู่ในกรมศิลปากรใช้เนื้อร้องเพลงชาติของกองทัพบก ดังต่อไปนี้

ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย เป็นประชารัฐไผทของไทยทุกส่วน

อยู่ดำรงคงไว้ได้ทั้งมวล ด้วยไทยล้วนหมายรักสามัคคี

ไทยนี้รักสงบแต่ถึงรบไม่ขลาด เอกราชจะไม่ให้ใครข่มขี่

สละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลี เถลิงประเทศชาติไทยทวีมีชัย ชโย

ศาสนา

ประเทศไทย มีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ คนไทยสามารถนับถือศาสนาต่าง ๆ กันได้ แต่มีผู้นับถือศาสนาพุทธกว่าร้อยละ 90 คนไทยยังนับถือศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ ศาสนาพราหมณ์ ฮินดู และซิกซ์ เป็นต้น รัฐธรรมนูญของไทยและกฎหมายอื่น ๆ ให้ความคุ้มครองในเรื่องการนับถือศาสนาเป็นอันดี ไม่ได้บังคับให้ประชาชนชาวไทยนับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่ง เป็นการเฉพาะ โดยถือว่าบุคคลย่อมมีเสรีภาพในการนับถือศาสนานิกายของศาสนา แม้ศาสนาต่าง ๆ จะมีแนวทางปฏิบัติและรายละเอียดบางประการที่แตกต่างกันแต่ก็มีหลักเดียวกันคือต่างมุ่งสอนให้ทุกคนประกอบความดี ละเว้นความชั่ว ทั้งนี้เพื่อความเจริญของบุคคลในทางร่างกาย และจิตใจ อันจะนำสันติสุขมาสู่สังคมส่วนรวม

 

 

 

 



แหล่งอ้างอิง : หนังสือประวัติศาสตร์

โดย : นางสาว ภัทราวรรณ วงล้อมนิล, โรงเรียนพนัสพิทยาคาร, วันที่ 8 พฤศจิกายน 2545