วิธีจำคำศัพท์
"r-a-t แรท หนู
c-a-t แคท แมว
v-i-s-u-a-l-i-z-a-t-i-o-n การนึกภาพ
a-c-u-t-e มุมแหลม หรือความถูกต้องและเฉลียดฉลาด"
คุ้นๆ ไหมครับกับการท่องศัพท์แบบข้างบนนี้
หลายคนคงไม่ใช่แค่เคยผ่านการท่องศัพท์แบบทีละ 10-15 คำตอนเด็กๆ แต่ยังคงสามารถมโนภาพถึงเวลาที่ต้องท่องศัพท์หน้าห้อง ต่อหน้าครูมาแล้วใช่ไหมครับ เราท่องศัพท์ซ้ำไปซ้ำมาหลายรอบจนเรา (คิดว่าตัวเอง) จำได้ จริงอยู่ครับ แม้ว่าวิธีเหล่านั้นจะทำให้เรา (เข้าใจว่าเรา) จำศัพท์ได้ แต่รู้ไหมว่าวิธีแบบนั้นทำให้เราจำได้ในระยะสั้นๆ เท่านั้นเอง
นักวิจัยและนักจิตวิทยาได้ทำการวิจัยและพบว่า การท่องศัพท์แบบทวนคำศัพท์ซ้ำๆ ไปมา (repeat) เป็นการป้อนข้อมูลเข้าหน่วยความจำใน "ระยะสั้น" เท่านั้น ก็คงสั้นเหมือนกับหลายๆ คน (รวมทั้งตัวผมด้วย) หลังจากออกมาจากห้องสอบแล้ว ก็ลืมสิ่งที่เราอ่านคืนก่อนสอบหมดเกลี้ยงเลย (โดยเฉพาะวิชาที่ไม่ถนัดเท่าไหร่ แหม จริงๆ ไอ้เราก็หลายวิชาอยู่นะเนี่ย)
ดังนั้นคำถามจึงมีขึ้นว่า มีวิธีการท่องหรือจำศัพท์อย่างไรให้ศัพท์เหล่านั้นเข้าไปอยู่ในความจำ "ระยะยาว" . . . วันนี้ผมจะพูดถึงสองวิธีที่น่าสนใจครับ
ก. วิธีจำคำศัพท์ให้นาน หรือให้ศัพท์พวกนั้นถูกเก็บอยู่ในหน่วยความจำ "ระยะยาว" ก็คือกระบวนการนึกภาพ หรือ ที่ภาษาอังกฤษเค้าเรียกว่า visualization (วิธีนี้ Peter Gray เอามาจากบทความของ R.C. Atkinson ชื่อ "Mnemotechnics in School-Language Learning" ที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร American Psychologist ปี 1975) ลองมาดูตัวอย่างกันดีกว่าครับ ว่าไอ้เจ้าวิธีนี้เค้าทำกันยังไง เช่น เราจะจำคำว่า acute ซึ่ง 1 ใน 4 ความหมายของมันคือ มุมแหลม (มุมที่น้อยกว่า 90 องศา) แทนที่เราจะมานั่งท่องซ้ำไปซ้ำมาว่า a-c-u-t-e (เออะ-คิ้วท์) แปลว่า มุมแหลม เราก็นึกภาพมุมแหลมเลย หรือจะให้ดีกว่านั้นลงมือวาดเลยครับ (วาดยังไงก็ได้น้าาา ให้มันแหลม แล้วก็น้อยกว่า 90 องศาใช้ได้แล้ว) แล้วนึกว่ามุมนี่มัน cute (=น่ารัก) ดีนะ เพราะว่ามันเล็กๆ ไม่ใหญ่ (เพราะว่ามุมแหลมมันเล็ก ดังนั้นเวลาวาดก็วาดเล็กๆเน้อ ถึงแม้มุม 80 องศาก็เป็นมุมแหลม แต่ก็วาดสัก 10 องศาก็พอ ให้มันเล็กๆ จะได้จำง่ายดี)
ข. วิธีที่สอง: Masoura และ Gathercoie (ชื่ออ่านยากทั้งสองคนเลย อ่านไม่ออก ใครอ่านออกช่วยบอกหน่อยครับ) แนะนำให้โยงคำศัพท์ภาษาใหม่ (ซึ่งคือภาษาอังกฤษในกรณีนี้) เข้ากับภาษาเดิมของเราที่เราถนัด (ซึ่งก็คือภาษาไทย) เช่น ถ้าเราต้องการจำคำว่า acute (ขอใช้อีกรอบแล้วกัน) ซึ่งนอกเหนือจากแปลว่ามุมแหลมแล้ว มันก็สามารถหมายถึง ความถูกต้องและฉลาดได้ด้วย แทนที่เราจะท่องว่า a-c-u-t-e ถูกต้องหรือฉลาด เราก็ว่าจำว่าเจ้า acute ที่ออกเสียงว่า เออะ-คิ้วท์ คล้ายกับคำว่า คิ้ว (ที่อยู่เหนือตา เอาไว้กันไม่ให้เหงื่อเข้าตานั่นแหละเน้อ) เวลาผู้หญิงเขียนคิ้วเนี่ยเค้าต้องเขียนให้ "ถูกต้อง" เพราะว่าคิ้วสวยแสดงถึงความ "ฉลาดหลักแหลม" เวลาไปทำงาน พบลูกค้า ต้องเขียนคิ้วให้ถูกต้องไม่ขาด ไม่เกิน เพื่อลูกค้าจะได้ดูว่าผู้หญิงคน นั้นฉลาดหลักแหลม . . . การโยงคำศัพท์ภาษาใหม่ (acute) เข้ากับภาษาเดิมของเราที่เราถนัด (คิ้ว) นั้นทำให้เราจำได้แม่นยำกว่าที่เราจะมานั่งท่องมันซ้ำๆ ครับ (มันอาจจะตลก ถึงขนาดมีคนขำ แต่ว่ายิ่งตลก หรือแปลกยิ่งจำได้นานนะ)
เอาเป็นว่าได้ผล ไม่ได้ผลยังไง หรือมีวิธีอื่นๆ แนะนำ เชิญเลยครับ
(หมายเหตุ บทความนี้ไม่ได้มาจากการแปลนะครับ จึงไม่มีเรื่องของลิขสิทธิ์มาเกี่ยวข้อง แต่ก็ไม่ลืมที่จะบอกแหล่งที่มาของแนวความคิด แต่ถ้าใครแปลมา หรือคัดลอกมาโดยตรง ก็ต้องขอลิขสิทธิ์จากทางหนังสือนั้นอย่างเป็นทางการด้วยเน้อ ตอนหน้าอาจจะพูดถึงเรื่องการเขียน Work Cited แบบหนังสือครับ แต่ตอนนี้ดูตัวอย่างด้านล่างก่อนแล้วกันครับ)
หนังสืออ้างอิง
Gathercoie, Susan E., and Masoura, Elvira V. Phonological Short-term Memory and Foreign Language Learning. International Journal of Psychology 34 (1999) : 383-388.
Gray, Peter. Psychology. New York: Worth Publisher, 2002.
w-bpf |