ความกระตือรื้อร้น คติประจำใจ
           "คนเรามีความสามารถอยู่ในตนเอง     หากได้รับการสนับสนุนและชักจูงไปในทางที่ดี  แล้วก็จะช่วยให้ตนเองมีโอกาสฝึกใช้เชาว์ปัญญา    ทำให้มีความสามารถและมีความชำนาญยิ่งขึ้น  นอกจากนี้ยังจะช่วยให้ก่อเกิดความคิด ความเห็นต่าง ๆ ในการพิจารณาปัญหาของตนเอง  เมื่อได้รับความสำร็จก็จะช่วยให้เกิดการกระตุ้นในตนเองสูงขึ้น    มีความกระตือรือร้นที่จะปรับปรุงตนเองให้มีความก้าวหน้ายิ่งขึ้นต่อไป"

 

 ชีวิตคนเรา.....ไม่สำคัญที่ว่าจะมี

อายุยืนยาวหรอก...แต่อยู่ที่ว่าเรา

           ต้องใช้ชีวิตอยู่ด้วยความกระตือรือร้น

      ยุคปัจจุบันเป็นยุคของสังคมแห่งการเรียนรู้  ระบบเศรษฐกิจพัฒนา  บนฐานความรู้ ดังนั้นการที่จะสร้างประเทศให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ หรือระบบเศรษฐกิจซึ่งใช้ฐานความรู้เป็นหลักจึงเป็นสิ่งจำเป็น ทั้งนี้ใน แต่ละสังคมจะประกอบด้วยองค์กรเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นองค์กร ภาครัฐ องค์กรภาคเอกชน องค์กรภาคประชาชน หรือองค์กรอื่น ๆ ซึ่งหากเราสามารถทำให้องค์กรเหล่านี้กลายเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้  รวมถึงการสร้างปัจเจกชนในประเทศให้เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้  โดยยึดโยงทุกเรื่องเข้าหากันระหว่างปัจเจกบุคคลที่อยู่ในองค์กรด้วยกันเอง  ระดับองค์กรซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงสร้างสังคม  และประเทศชาติในภาพรวมแล้ว ประเทศจะกลายเป็นประเทศแห่งการเรียนรู้ในที่สุด

     ความหมายขององค์กรแห่งการเรียนรู้ คือ องค์กรที่มุ่งเน้น และจูงใจให้สมาชิกทุกคน มีความกระตือรือร้นที่จะพัฒนาตนเอง และสร้างความรู้อยู่ตลอดเวลาเพื่อเพิ่มพูนศักยภาพของตนเองและองค์กร ทำให้เกิดความก้าวหน้าในการดำเนินกิจการ ไปสู่เป้าหมายขององค์กรในที่สุด โดยองค์ประกอบสำคัญในการเรียนรู้ คือ

ความรู้
    องค์กรควรกำหนดว่าพนักงานควรจะรู้อะไรจึงจะเหมาะสมกับระดับของพนักงาน และควรมีความรู้ในเรื่องนั้น ๆ มากน้อยเพียงใด เน้นความสัมพันธ์ของความรู้กับสติปัญญาโดยตรง ซึ่งสามารถแยกการเรียนรู้ในระดับนี้ได้เป็น 6 ระดับ  ได้แก่  ความจำ  ความเข้าใจ  การนำไปใช้       การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ และการประเมินผล

ทัศนคติ
    เกิดจากการหล่อหลอมทางครอบครัว การศึกษา สังคม วัฒนธรรม ประสบการณ์ ความเชื่อ และค่านิยม ส่งผลเป็นการแสดงออกของแต่ละบุคคล ฉะนั้นถ้าองค์กรต้องการให้พนักงานเป็นคนแห่งการเรียนรู้ ต้องเปลี่ยนทัศนคติของพนักงานให้รักการเรียนรู้เสียก่อน

ทักษะในการปฏิบัติงาน
    ครอบคลุมในแง่ของการนึกได้ ทำได้ สร้างความชำนาญในการทำงาน สามารถนำสิ่งที่เรียนมาใช้ในองค์กรอย่างเป็นลำดับขั้น คือ ขั้นแรกสามารถทำเองได้ภายใต้คำแนะนำ ขั้นต่อมาคือทำได้แต่ยังขาดความชำนาญ ท้ายที่สุดสามารถทำได้อย่างอัตโนมัติ เร็วขึ้น และมีประสิทธิภาพสูงมีทักษะอย่างสมบูรณ์

    การก้าวสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้จำเป็นต้องมีการพัฒนา เปลี่ยนแปลงอย่างครบวงจร ไม่ใช่การเปลี่ยนเพียงด้านใดด้านหนึ่ง    โดยในบทความนี้ผมจึงขอเสนอรูปแบบการพัฒนาองค์กรที่เกี่ยวข้องกับบุคลากรในองค์กร เพราะ บุคลากรเป็นปัจจัยหลักของการเกิดองค์กรแห่งการเรียนรู้ โดยต้องอาศัยความร่วมมืออย่างดีทั้งในส่วนของผู้นำองค์กร และพนักงาน ดังนี้

แบบอย่างของผู้นำองค์กร
    ผู้นำเปรียบเหมือนต้นแบบของการเรียนรู้ที่สำคัญ เพราะผู้นำเป็นอย่างไรผู้ตามมักจะเลียนแบบไม่มากก็น้อย ผมจึงอยากเห็น ผู้นำทุกระดับชั้น ทั้งผู้นำองค์กร ผู้นำประเทศ สนใจการเรียนรู้ ถ้าผู้นำมีบุคลิกยามว่างอ่านหนังสือ พกหนังสือติดตัวไว้อ่าน เช่น ระหว่างรอคน หรือใช้เวลาว่างในการหาหนังสือตามสิ่งที่ตนเองสนใจและเป็นประโยชน์ ผู้นำสามารถสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้โดยให้ตนเองเป็นต้นแบบ เช่น อ่านหนังสือเป็นประจำ สนใจไขว่คว้าหาความรู้ด้วยใจจริง มีหิ้งหนังสือที่มีหนังสือเต็มไปหมดไว้ที่บ้าน ใช้เงินบางส่วนกับการซื้อหนังสือ นำสิ่งที่อ่านนั้นมาเป็นประโยชน์ต่อการทำหน้าที่การงาน จนคนในองค์กรสัมผัสได้ว่าตนนั้นชื่นชมในวิถีแห่งการเรียนรู้ ถ้าไม่มีต้นแบบจะเกิดองค์กรแห่งการเรียนรู้ยากที่สุด ดังนั้นเราต้องเริ่มต้นที่ตัวต้นแบบคือที่ตัวผู้นำก่อน

การมีวิสัยทัศน์ร่วมของพนักงานในองค์กร
    เน้นการกระจายหรือการสร้างวิสัยทัศน์ร่วมให้เกิดขึ้นกับทุก ๆ คนในองค์กร หมายความว่าไม่เพียงผู้นำจะมีวิสัยทัศน์และลักษณะเป็นคนแห่งการเรียนรู้เท่านั้น แต่พนักงานทุกคนจะต้องรับรู้วิสัยทัศน์และรับเอามาเป็นเสมือนหนึ่งวิสัยทัศน์ส่วนตัว เพื่อให้ทุกคนในองค์กรมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและมีส่วนในการทำงานอย่างเต็มที่ วิสัยทัศน์ร่วมจะเป็นแรงผลักดันและแรงขับเคลื่อนให้ทุกคนสามารถทำงานด้วยความกระตือรือร้น เห็นคุณค่าในสิ่งที่ทำและเห็นความสำคัญที่จะต้องทำให้สำเร็จ ผลักดันให้บุคลากรในองค์กรเป็นคนแห่งการเรียนรู้ เปลี่ยนโลกทัศน์ให้เป็นคนที่รักการเรียนรู้ตลอดเวลาที่ปฏิบัติงาน (on-the-job learning) โดยที่ผู้นำต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการเอื้ออำนวยและติดตามดูแลการเรียนรู้ในองค์กร การส่งเสริมให้พนักงานสามารถนำตนเองในการเรียนรู้ได้ (learner-directed development) สะท้อนออกด้วยการเป็นนักเรียนรู้ที่ตื่นตัว กระตือรือร้น แสวงหาความรู้ใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ และมีความไวในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง

     การก้าวสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ นอกจากการพัฒนาบุคลากรในองค์กรแล้ว จำเป็นต้องมีการพัฒนาระบบ และบริบทควบคู่ด้วย เพื่อให้องค์กรพัฒนาสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้อย่างสมบูรณ์


ที่มา : www.ifd.or.th/futurestudiessite/newarticlet82.htm - 25k

โดย : นาย รุ่งโรจน์ ชุ่มวงค์, สถาบันราชภัฏอุตรดิตถ์, วันที่ 13 มกราคม 2546