ความหมาย วันวิสาขบูชานั้นเพราะเป็นวันตรงกับวันเพ็ญ (วันกลางเดือนพระจันทร์เต็มดวง) เดือน วิสาขบูชาซึ่งตรงกับเดือน 6 ของไทย วันกลางเดือน 6 เป็นวันที่พระจันทร์เสวยวิสาขฤกษ์ ถ้าเป็นปีที่มีอธิกมาส คือมีเดือน 8 สองหน ก็เลื่อนไปเป็นวันเพ็ญ (วันกลางเดือน) เดือน 7
ความสำคัญ วันวิสาขบูชาเป็นวันที่พุทธศาสนิกชนทั้งหลายถือเอาความอัศจรรย์ 3 ประการที่เกิดขึ้นในวาระเดียวกัน แต่ละประการได้เกิดขึ้นในโอกาสต่างกัน เป็นหลักการใหญ่เมื่อวันเช่นนี้เวียนมาถึงรอบปี พุทธศาสนิกชนจึงประกอบพิธีสักการะบูชาเป็นการยิ่งใหญ่ ความอัศจรรย์ทั้ง 3 ประการที่เกิดใน วันวิสาขบูชา ได้แก่ ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน
วันประสูติ (วันศุกร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ (วิสาขมาส) ปีจอ ก่อนพุทธศก ๘๐ ปี)
|
ในเวลาเช้า พระนางสิริมหามายา ขณะนั้นทรงพระครรภ์ได้ ๑๐ เดือน จวนที่จะประสูติแล้ว ก็ได้ทูลขอพระราชสวามี ในอันที่จะเสด็จไปยังกรุงเทวทหนคร (เมืองเกิด) เพราะประเพณีพราหมณ์ ภรรยามีครรภ์หาคลอดที่เรือนสามีไม่ หากแต่กลับไป คลอดที่เรือนแห่งสกุลของตน
และการที่พระนางจะเสด็จไปทั้งๆ ที่ทรงพระครรภ์แก่จวนที่จะประสูติอย่างนั้น เมื่อเสด็จไปถึงพระราชอุทยานลุมพินี เผอิญพระนางทรงประชวรพระครรภ์ขึ้นมาอย่างกะทันหัน จะเสด็จต่อไปยังเมืองเทวทหะหรือเสด็จกลับคืนพระนครกบิลพัสดุ์ก็ไม่ทันเสียแล้ว พระมหาบุรุษของเราจึงต้องประสูติ ณ สถานที่นั้น ภายใต้ร่มไม้สาละ เมื่อเวลาสายใกล้เที่ยงวันเดียวกัน
นับเป็นการเกิดครั้งแรกของพระองค์ เรียกว่า เกิดด้วยรูปกาย ซึ่งนับเริ่มมาตั้งแต่เวลาที่เสด็จลงมาถือปฏิสนธิจนถึงเวลาที่ตรัสรู้ |
วันตรัสรู้ (วันพุธ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีระกา ก่อนพุทธศก ๔๕ ปี)
|
ในรุ่งเช้าพระองค์ทรงรับข้ามธุปายาส ของนางสุชาดา ธิดาของคหบดีในตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ที่เข้าใจว่าพระองค์เป็นเทวดา เมื่อเสร็จลงสรงน้ำในแม่น้ำเนรัญชราเสร็จแล้ว จึงเสด็จขึ้นมาเสวยจนหมด จากนั้นก็ทรงลอยถาดในแม่น้ำ พร้อมทั้งอธิษฐานเสี่ยงพระบารมีว่า "หากว่าจะได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ ขอถาดใบนี้จงลอยทวนกระแสน้ำไป" ซึ่งถาดนั้นก็ลอยทวนกระแสน้ำขึ้นไปจริงๆ
เมื่อทรงทอดพระเนตรเห็นนิมิตหมายอันดีเช่นนั้น เวลาเย็นเสร็จประทับนั่งต่างบัลลังก์ ณ ควงไม้พระศรีมหาโพธิ์ เสด็จขึ้นประทับนั่งขัดสมาธิ แล้วทรงอธิษฐานพระทัย (จาตุรงคมหาปธาน) ว่า "จักไม่ลุกขึ้นจากที่นี้ ตราบใดที่ยังไม่ได้บรรลุพระสัมโพธิญาณ แม้ว่าเนื้อและเลือดจะเหือดแห้งไปจนเหลือเพียงหนังหุ้มกระดูกก็ตามที" |
ขณะทรงนั่งขัดสมาธิอยู่นั้น ทรงต่อสู้กับกิเลสมาร ที่ทำให้พระองค์ทรงหวนระลึกถึงความหลังเมื่อครั้งเสวยกามสุข ด้วย พระบารมี ๑๐ ทัศ คือ ทาน , ศีล , เนกขัมมะ , ปัญญา , วิริยะ , ขันติ , สัจจะ , อธิษฐาน , เมตตา , อุเบกขา ที่ทรงเคยบำเพ็ญมาทั้งในอดีตชาติและในปัจจุบันชาติ ทำพระหฤทัยให้หนักแน่น ไม่หวั่นไหว จนทำให้กิเลสมารปราชัยได้ จากนั้นก็ทรงเจริญสมาธิภาวนาทำจิตให้แน่วแน่ปราศจากอุปกิเลส จนจิตสุขุมเข้าโดยลำดับนับว่าได้บรรลุฌาณที่ ๑ , ๒ , ๓ , ๔
แล้วยังญาณอันเป็นตัวปัญญาชั้นสูง ทั้ง ๓ ประการ คือ ปุพเพนิวาสานุสติญาณ (ระลึกชาติได้) จุตูปปาตญาณ (ทิพจักขุญาณ มองเห็นการจุติและการเกิดของสัตว์โลกได้) อาสวักขยญาณ (ความรู้เป็นเหตุสิ้นไปแห่งอาสวะเครื่องเศร้าหมอง อันหมักหมมอยู่ในจิตสันดาน)
สรุปแล้ว ที่พระองค์ทรงตรัสรู้นั้น ก็คือตรัสรู้ อริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ , สมุทัย , นิโรธ , มรรค
วันปรินิพพาน (วันอังคาร ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะเส็ง ก่อนพุทธศก ๑ วัน)
|
ทรงปรินิพพาน ระหว่างไม้สาละคู่หนึ่ง สาลวโนทยาน กรุงกุสินารา แต่ก่อนปรินิพพานนั้นได้ทรงอุปสมบทให้แก่ สุภัททมาณพ เป็นสาวกรูปสุดท้าย และได้ทรงตรัสประทานพระโอวาทแก่ภิกษุสงฆ์เหล่านั้น โดยตรัสเรียกชื่อพระอานนท์ว่า "อานนท์ เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว หากจะมีภิกษุบางรูปดำริว่า พระศาสดาของเราปรินิพพานแล้ว บัดนี้ ศาสดาแห่งเราไม่มี อานนท์เธอทั้งหลายไม่ควรที่จะดำริอย่างนั้น ไม่ควรที่จะเห็นอย่างนั้น ด้วยว่า ในเมื่อเราล่วงไปแล้ว ธรรมและวินัยนั้น ๆ แลซึ่งเราได้แสดงไว้แล้วและได้บัญญัติไว้แล้วจักเป็นศาสดาแห่งเธอทั้งหลาย"
ได้ทรงตรัสเตือนภิกษุเหล่านั้นเป็นครั้งสุดท้ายว่า " หนฺททานิ ภิกฺขเว อามนฺตยามิ โว วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ" แปลว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอเตือนเธอทั้งหลายว่าสังขารทั้งหมดล้วนมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น ให้บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด" พระโอวาทนี้จัดเป็นปัจฉิมโอวาท ซึ่งเท่ากับว่าพระองค์ทรงรวบรวมเอาพระโอวาทที่ประทานไว้แล้วตลอด ๔๕ พรรษา นั้นมารวมลงไว้ในความไม่ประมาท (อัปปมาทธรรม) อย่างเดียว. |
ต่อแต่นั้นก็มิได้ทรงตรัสอันใดอีกเลย แล้วทรงเข้าฌาน โดยอนุโลมคือเข้าฌานไปโดยลำดับ และโดยปฏิโลมคือเข้าฌานทวนลำดับลงมาดังนี้
ทรงเข้าปฐมฌาน ออกจากปฐมฌาน
แล้วทรงเข้าทุติยฌาน ออกจากทุติยฌาน
แล้วทรงเข้าตติยฌาน ออกจากตติยฌาน
แล้วทรงเข้าจตุตถฌาน ออกจากจตุตถฌาน
แล้วทรงเข้าอากาสนัญจายตนฌาน อาจากอากาสนัญจายตนฌาน
แล้วทรงเข้าวิญญานัญจายตนฌาน ออกจากวิญญานัญจายตนฌาน
แล้วทรงเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน
แล้วทรงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ
ขณะพระองค์ทรงอยู่ในสมาบัตินี้ ทรงมีพระอาการสงบไม่ไหวติงด้วยจิตสังขาร (จิตวิญญาณ) ไม่มีความรู้สึกและรับรู้สิ่งภายนอกทุกประการ แม้ลมหายใจเข้าออกก็ดับไป แต่ก็ยังไม่ปรินิพพาน เพราะขณะที่อยู่ในสมาบัตินี้ อานุภาพของสมาบัติจะรักษาอยู่ตลอดเวลา ซึ่งผู้ที่ไม่คุ้นเคยกันกับสมาบัตินี้ อาจคิดว่าผู้ที่อยู่ในสมาบัตินั้นได้ตายไปแล้ว
ดังนั้น ท่านพระอานนท์ซึ่งนั่งเฝ้าดูพระอาการของพระพุทธเจ้าอยู่ตลอดเวลา จึงถามพระอนุรุทธะซึ่งนั่งอยู่ใกล้ ๆ ว่าพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วหรือ พระอนุรุทธะตอบว่ายัง เพราะท่านได้เข้าสมาบัติทั้ง ๘ นั้น มาพร้อมๆ กันกับพระพุทธเจ้า เมื่อท่านออกจากสมาบัติขั้นที่ ๘ แล้ว ก็มิได้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธซึ่งเป็นสมาบัติขั้นที่ ๙ ต่อไป แต่พระพุทธเจ้าทรงเข้าต่อไปอีกดังนั้น ท่านจึงรู้ว่าพระองค์ยังไม่ปรินิพพาน
เมื่อพระองค์ทรงออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธแล้ว ก็ทรงเข้าถอยหลังกลับมาอีก ซึ่งเรียกว่าปฏิโลม ดังนี้
ออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธ แล้วทรงเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน
ออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน แล้วทรงเข้าอากิญจัญญายตนฌาน
ออกจากอากิญจัญญายตนฌาน แล้วทรงเข้าวิญญาณัญจายตนฌาน
ออกจากวิญญานัญจายตนฌาน แล้วทรงเข้าอากาสานัญจายตนฌาน
ออกจากอากาสานัญจายตนฌาน แล้วทรงเข้าจตุตถฌาน
ออกจากจตุตถฌาน แล้วทรงเข้าตติยฌาน
ออกจากตติยฌาน แล้วทรงเข้าทุติยฌาน
ออกจากทุติยฌาน แล้วทรงเข้าปฐมฌาน
แล้วทรงทวนขึ้นไปอีกวาระหนึ่ง ดังนี้
ออกจากปฐมฌาน แล้วทรงเข้าทุติยฌาน
ออกจากทุติยฌาน แล้วทรงเข้าตติยฌาน
ออกจากตติยฌาน แล้วทรงเข้าจตุตถฌาน
ออกจากจตุตถฌาน แล้วเสด็จปรินิพพาน
รวมพระชนมายุของพระองค์ได้ ๘๐ ปี พอดี.
พร้อมกับการปรินิพพานของพระองค์ พลันพื้นปฐพีก็สั่นสะท้านกัมปนาท ก้องกึกเลื่อนลั่นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งท้องทะเลป่วนปั่น พายุพัดกรรโชกกระหน่ำ โลมชาติลุกชูชันเป็นที่น่าสะพรึงกลัวยิ่ง
ขณะเดียวกัน ท้าวสหัมบดีพรหม ท้าวสักกเทวราช พระอนุรุทธะ และพระอานนท์ก็ได้เปล่งวาจาแสดงความสังเวชสลดใจแห่งตน ขึ้นดังนี้
ท้าวสหัมบดีพรหมได้กล่าวขึ้นว่า "ผู้ที่เกิดขึ้นมาแล้ว ในโลกนี้ ล้วนแต่ต้องละทิ้งร่างกายไว้ทับถม ปะปนกับพื้นปฐพีกันทั้งสิ้น หามีเลือกหน้าหรือละเว้นสำหรับผู้ใดไม่ แม้องค์พระศาสดาตถาคตเจ้าผู้ซึ่งทรงพระคุณใหญ่หลวงเช่นนี้ไม่มีผู้ใดจะเปรียบปาน ทรงพระ สยัมภูญาณตรัสรู้โดยลำพังพระองค์ถึงซึ่งกำลังคือพระทศพลญาณแล้ว ก็หารอดพ้นไปไม่ น่าสลดใจยิ่ง"
ท้าวสักกเทวราชได้กล่าวขึ้นว่า "สังขารทั้งหลาย ไม่เที่ยงหนอ มีความเกิดขึ้นและเสื่อมไปเป็นธรรมดาเกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป อันความสงบระงับไปแห่งสังขารเหล่านั้น (นิพพาน) เป็นสุข"
พระอนุรุทธะได้กล่าวขึ้นว่า "ลมอัสสาสะปัสสาสะ (ลมหายใจเข้าออก) ของพระมุนีผู้มีพระทัยตั้งมั่นคงที่ ไม่หวั่นไหว ทรงปรารภสันติทรงทำกาละ มิได้มีแล้ว พระองค์มีพระทัยไม่หดหู่ ทรงอดกลั่นเวทนาได้แล้ว ความพ้นแห่งจิตได้มีแล้ว เหมือนดวงประทีป ดับไปฉะนั้น"
พระอานนท์ได้กล่าวขึ้นว่า "ในครั้งที่เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงประกอบด้วยพระอาการอันประเสริฐ ได้เสด็จดับขันธปรินิพพาน เหตุอัศจรรย์อันให้สะดุ้งหวาดกลัวแล้วให้โลมชาติชูชัน ได้ปรากฏขึ้นแก่เหล่าเทพยดาและมวลมนุษย์แล้ว"
ลำดับนั้น พระอนุรุทธะกับพระอานนท์ จึงแสดงธรรมีกถาไปพลาง ๆ .
การประกอบพิธีในวันวิสาขบูชา
จุดมุ่งหมายในการประกอบพิธีในวันวิสาขบูชา เพื่อรำลึกถึงพระวิสุทธิคุณ พระปัญญาคุณ และพระมหากรุณาธิคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีต่อมวลมนุษย์และสรรพสัตว์ อีกทั้งเพื่อเป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์อันน่าอัศจรรย์ทั้ง ๓ ประการที่มาบังเกิดในวันเดียวกัน และเพื่อให้เหล่าพุทธศาสนิกชนได้มีโอกาสศึกษาหาความรู้ความเป็นไปเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา และนำหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์มาเป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติ
ประวัติความเป็นมาของการประกอบพิธีทางศาสนาในวันวิสาขบูชา
การประกอบพิธีในวันสำคัญนี้ ได้มีการปฏิบัติสืบต่อกันมาในชมพูทวีปหรือประเทศอินเดียดินแดนที่เกิดแห่งพระพุทธศาสนาเป็นเวลาช้านาน และเมื่อพระพุทธศาสนาแพร่หลายเข้ามาในเมืองไทยและประเทศศรีลังกา ก็ได้มีการถือปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
สำหรับในประเทศไทย มีการประกอบพิธีในวันวิสาขบูชามานับตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี น่าเสียดายที่ในสมัยอยุธยาและกรุงธนบุรีไม่มีหลักฐานว่าได้มีการประกอบพิธีในวันสำคัญนี้หรือไม่ ในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือน อันเป็นพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุล จอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้กล่าวไว้ว่าการประกอบพิธีในวันวิสาขบูชา มีการฟื้นฟูขึ้นใหม่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๓๖๐ ในสมัยรัชกาลที่ ๒ ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชมี ได้ถวายพระพรให้ทรงทำพระราชกุศลเนื่องในวันวิสาขบูชานี้ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง
ในครั้งนั้นได้มีประกาศพระราชพิธีกำหนดการประกอบพิธีวิสาขบูชา โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงรักษาศีลอุโบสถ (ศีล ๘ เป็นเวลา ๓ วัน ห้ามไม่ให้มีการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตและดื่มสุรายาเมาเป็นเวลา ๓ วัน มีการประดับประทีปโคมไฟ จัดดอกไม้ธูปเทียนเป็นเครื่องสักการบูชา พร้อม จุดดอกไม้ไฟเฉลิมฉลองสมโภช เป็นเวลา ๓ วัน
นอกจากนั้น ยังมีการจัดพิธีเวียนเทียนรอบพระอุโบสถหรือปูชนียสถาน ๓ วัน และมีพระธรรมเทศนาและถวายไทยธรรมตลอด ๓ วัน ประชาชนพากันรักษาศีลปฏิบัติธรรม ทำบุญตักบาตรให้ทานแก่คนยากคนจน ปล่อยสัตว์ ประดับประทีปโคมไฟตามบ้านเรือน
ในปัจจุบันการประกอบพิธีในวันสำคัญนี้ แบ่งออกเป็น ๓ อย่างคือ
๑. พิธีหลวง
๒. พิธีราษฎร์
๓. พิธีสงฆ์ การประกอบพิธีในวันวิสาขบูชา มีการปฏิบัติเช่นเดียวกับในวันมาฆบูชาตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น จะมีเปลี่ยนแปลงเฉพาะการกล่าวถึงประวัติความเป็นมาของวันสำคัญนี้ และสำหรับบทสวดมนต์บูชาพระก็ใช้อันเดียวกัน ยกเว้นแต่บทสวดบูชาในวันวิสาขบูชา ซึ่งต่างจากบทสวดในวันมาฆบูชา ให้ดูรายละเอียดได้ในหนังสือมนต์พิธี
|