ซีเอไอ 2002 : จากคอมพิวเตอร์ช่วยสอนสู่การเรียนอิเล็กทรอนิกส์
(From CAI to E - Learning)
วิวัฒนาการของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และการสื่อสารโทรคมนาคมได้ก่อให้เกิดเทคโนโลยี คือไอทีหรือเทคโนโลยีสารสนเทศ และเกิดดภาพใหม่ของการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยการเรียนการสอน ซึ่งมีขอบข่ายกว้างขวางยิ่งขึ้น ทั้งในด้านอุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้งานและในด้านการจัดกิจกรรมทางการศึกษา ตลอดจนการติดตั้งใช้งานในโรงเรียน สถานศึกษา หรือหน่วยงานทางการศึกษา ในระดับต่างๆความจริงคำว่า คอมพิวเตอร์ช่วยการเรียนการสอนหรือซีเอไอ/ซีเอแอล เป็นคำที่กินความหมายกว้างอยู่แล้ว จึงสามารถปรับขยายให้ครอบคลุมได้มากขึ้น เมื่อเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มีวิวัฒนาการก้าวหน้า เปลี่ยนความพร้อมจากการใช้คอมพิวเตอร์เครื่องเดี่ยวมาเป็นคอมพิวเตอร์ระบบเครือข่ายและเครือข่ายโลกในที่สุด เราจึงพบคำว่า คอร์สแวร์คำเดิม (Courseware) บนเว็บไซต์ต่างๆในความหมายใหม่ของบทเรียนคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีลักษณะเป็นบทเรียนสำหรับใช้ทั้งแบบออนไลน์และให้ดาวน์โหลดไปใช้บนเครื่องเดี่ยวแบบออฟไลน์
การเรียนอิเลกทรอนิกส์ (e- Learning) จึงหมายถึง การใช้คอมพิวเตอร์ช่วยการเรียนการสอนซึ่งครอบคลุมขอบเขตการใช้งานตามยุคสมัย คือในบริบทของเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยมีจุดเน้นที่การเรียนรู้ของผู้เรียนได้มากขึ้น ตามคุณลักษณะที่เอื้ออำนวยให้เป็นไปได้ของเทคโนโลยีฯ มีการเปลี่ยนแปลงในองค์ประกอบต่างๆของการจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ อุปกรณ์ เครื่องมือ สื่อการสอน บทบาทของครู และผู้เรียน การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน และการวัดประเมินผลซึ่งต้องปรับให้สอดคล้องรับกันทั้งระบบ การเรียนอิเล็กทรอนิกส์ จึงมีจุดเน้นอยู่ที่การใช้คอมพิวเตอร์ในระบบเครือข่าย ประกอบด้วยเครื่องแม่ข่ายและเครื่องลูก (Server and Clients) ที่มีการจัดการให้เกิดการติดต่อสื่อสาร แบ่งปันอุปกรณ์ต่อพ่วง ข้อมูล และแนวคิดระหว่างผู้ใช้ด้วยกันได้ มีการทำงานทั้งแบบออฟไลน์ (Intranet) และออนไลน์ (Internet Connection)
ในปัจจุบันแนวคิดของการจัดการเรียนการสอน โดยเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Student-Centered) กลายเป็นแนวคิดที่เทคโนโลยีสารสนเทศช่วยให้เป็นไปได้มากยิ่ง สภาพการเกิดข้อมูลข่าวสาร สารสนเทศบนเครือข่ายโลกอย่างมากมาย ได้ทำให้เกิดความต้องการผู้คนที่มีทักษะพื้นฐานทางการใช้งานสารสนเทศ ซึ่งทักษะดังกล่าวจะเกิดได้เมื่อ ผู้เรียนมีคุณลักษณะแตกต่างจากเดิมจากที่เคยคอยแต่รับความรู้มาเป็นผู้เรียนที่เรียนอย่างมีส่วนร่วม และใฝ่เรียนรู้
(Active, Engaged Learners: Valdez,Nowakowski,and Rasmussen, 1995) การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนผ่านเครือข่าย จึงต้องจัดเพื่อพัฒนาทักษะทางการคิด การทำงานแบบร่วมมือ เพื่อให้ได้ผู้เรียนที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ คือ
1.รับผิดชอบการเรียนเอง ตั้งแต่การวางเป้าหมายทางการเรียน จนถึงการประเมินผลตนเอง (Responsible for Learning)
2.มีความสุขและสนุกกับการเรียน (Energized by Learning)
3.รู้กลยุทธ์ในการเรียน แก้ปัญหาได้ด้วยโมเดลความรู้และแหล่งข้อมูลที่ตนเองสะสม และพัฒนาขึ้นมา (Strategic)
4.รู้ว่าการเรียนเป็นกระบวนการเข้าสังคมอันหนึ่ง ที่ต้องรู้ว่าเขารู้เรา และรู้อยู่ร่วมกันด้วยใจที่เปิดกว้าง (Collaborative)
กิจกรรมการเรียนการสอนผ่านเครือข่าย ที่สามารถปรับให้มีรูปแบบของการรียนแบบร่วมมือกันนั้น มี 3 ประเภทใหญ่ คือ
1)การสนทนา สื่อสาร แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเป็นกลุ่ม ในหัวข้อต่างๆที่ได้รับมอบหมาย หรือคิดขึ้นมา ผ่านทางเครื่องมือสื่อสาร เช่น e-mail Forum / Webboard Chat Audio / Video Conference
2) การร่วมมือกัน เก็บรวบรวมข้อมูล เพื่อนำมา
- ตอบคำถาม
-วิจารณ์ผลงาน เปรียบเทียบข้อเท็จจริง
-ทำรายงาน สรุปเนื้อหา หรือวิเคราะห์ สังเคราะห์เนื้อหา
-ทำโครงงานเพื่อนำเสนอ ปัญหา ข้อเสนอแนะต่างๆแบบกรณีศึกษา
3) การสืบค้นข้อมูลร่วมกัน เพื่อนำมา
- แก้ปัญหา
- อภิปรายโต้แย้ง ติชม หาข้อสรุปที่ดีกว่า
- แข่งขันกันหาผลลัพธ์ และเปรียบเทียบวิธีการที่ทำให้ได้ผลลัพธ์นั้นมา
- ส่งต่อ เพื่อสร้างผลงานต่อกันไปเป็นลำดับ ทีละส่วน
- จำลองสถานการณ์ในฐานะต่างๆเช่น เป็นนักบินอวกาศ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
|