NECTEC
NSTDA
Home
Computer
Program
Internet & Web
Graphics
CAI
Multimedia
Electrical Power
General Education
Special Education
Links
Webmaster

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย


เหรียญกล้าหาญ
The Bravery Medal

               เหรียญกล้าหาญ ใช้อักษรย่อว่า ร.ก. เป็นเหรียญสำหรับพระราชทานเป็นบำเหน็จกล้าหาญ เหรียญนี้สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๔ สำหรับพระราชทานแก่ทหาร ตำรวจ และผู้ที่กระทำหน้าที่อย่างทหาร หรือตำรวจ หรือหน่วยทหารที่สงครามอินโดจีนได้กระทำการสู้รบกับราชศัตรูอย่างกล้าหาญ ตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงกลาโหมกำหนด

               พ.ศ. ๒๔๘๔ ๔ สิงหาคม พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการตรา "พระราชกำหนดเหรียญกล้าหาญ พุทธศักราช ๒๔๘๔" และ "พระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดเหียญกล้าหาญ พุทธศักราช ๒๔๘๔" ตลอดจนประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ระเบียบการประดับและกรณีที่จะให้ประดับเหรียญกล้าหาญ

               พ.ศ. ๒๔๘๕ ๒๑ เมษายน ได้มีการตรา "พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดเหรียญกล้าหาญ พุทธศักราช ๒๔๘๔ พุทธศักราช ๒๔๘๕" ขึ้น เพื่อแก้ไขลักษณะของเหรียญกล้าหาญจากเหรียญกลมรมดำ เป็นเหรียญโลหะกลม และมีการประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง วางระเบียบการประดับ และกรณีที่จะให้ประดับเหรียญกล้าหาญเป็นฉบับที่ ๒ เพิ่มเติมรายละเอียดในการประดับเหรียญเมื่อแต่งเครื่องแบบ

               พ.ศ. ๒๕๒๑ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ยกเลิกพระราชกำหนด และพระราชบัญญัติเหรียญกล้าหาญที่ตราขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๔ และ พ.ศ. ๒๔๘๕ ดังกล่าวตามลำดับ และตรา "พระราชบัญญัติเหรียญกล้าหาญ พ.ศ. ๒๕๒๑" ขึ้น ประกาศใช้ตั้งแต่ วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป คือ วันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๒๑

               เหรียญกล้าหาญเป็นเหรียญโลหะกลม
               ด้านหน้า มีพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกำลังทรงกระทำยุทธหัตถีกับราชศัตรู มีอักษรจารึกว่า "สมเด็จพระนเรศวรมหาราชกู้ชาติ"

               ด้านหลัง มีอักษรจารึกว่า "เรากล้ารบเพื่อเกียรติศักดิ์ไทย" เหรียญห้อยกับแพรแถบสีแดงขาว กว้าง ๓.๕ เซนติเมตร บนแพรแถบมีเข็มโลหะ รูปคฑาจอมพล จารึกอักษรว่า "กล้าหาญ" ใช้ประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้าย

ด้านหน้า
ประดับช่อชัยพฤกษ์
ด้านหน้า
ด้านหลัง

การประดับ

  1. ในเวลาแต่งเครื่องแบบ ให้ประดับเหรียญ หรือแถบของเหรียญนั้นได้ เว้นแต่การแต่งเครื่องแบบเต็มยศ ครึ่งยศ หรือในโอกาสที่มีกำหนดนัดหมายให้ประดับเหรียญจึงให้ประดับเหรียญนั้น
  2. ในเวลาที่มิได้แต่งเครื่องแบบ ต้องแต่งกายในทำนองที่สุภาพตามรัฐนิยม และให้ประดับเหรียญนั้นได้ในงานพระราชพิธี รัฐพิธี ในงานพิธี หรือ งานเกียรติยศของหมู่คณะ
  3. เครื่องหมายแพรแถบ เป็นแพรแถบสีแดงขาว ประดับด้วยเครื่องหมายรูปช่อชัยพฤกษ์ ทำด้วยโลหะสีทอง

การประดับเหรียญกล้าหาญที่ธงชัยเฉลิมพล

  1. เหรียญกล้าหาญที่พระราชทานให้แก่หน่วยทหารให้ประดับไว้ที่ธงชัยเฉลิมพลของหน่วยทหารนั้น เว้นแต่ในกรณีที่หน่วยทหาร ที่ได้รับพระราชทานเหรียญกล้าหาญไม่มีธงชัยเฉลิมพล ก็ให้ประดับไว้ที่ธงประจำกองของหน่วยทหารนั้น
  2. ในกรณีที่หน่วยทหารที่ได้รับพระราชทานเหรียญกล้าหาญไม่มีทั้งธงชัยเฉลิมพลและธงประจำกอง ก็ให้ประดับไว้ที่ธงชัยเฉลิมพล หรือธงประจำกองของหน่วยเหนือถัดขึ้นไป
  3. หน่วยทหารที่ได้รับพระราชทานเหรียญกล้าหาญให้มีสิทธิแสดงเครื่องหมายจำลองรูปแพรแถบเหรียญกล้าหาญ ที่ยุทโธปกรณ์หลักของหน่วยทหารนั้นได้

การพระราชทานและการส่งคืน / การเรียกคืน

  1. ถ้าบุคคลหรือหน่วยทหารที่ได้รับพระราชทานเหรียญกล้าหาญกระทำการสู้รบอย่างกล้าหาญ ต่อมาจะได้รับพระราชทานเครื่องหมายรูปช่อชัยพฤกษ์ทำด้วยโลหะสีทองสำหรับติดที่แพรแถบต่อไป ครั้งละหนึ่งเครื่องหมาย
  2. ในกรณีที่บุคคลซึ่งสมควรได้รับพระราชทานเหรียญกล้าหาญตายเสียก่อนได้รับพระราชทาน จะได้พระราชทานแก่ทายาทโดยธรรมคนใดคนหนึ่งของผู้นั้น เพื่อเป็นเครื่องระลึกถึงความกล้าหาญของผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว แต่ทายาทไม่มีสิทธิประดับเหรียญกล้าหาญดังกล่าว
  3. เหรียญกล้าหาญที่พระราชทานให้แก่บุคคลให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่ผู้รับ เมื่อผู้รับพระราชทานถึงแก่กรรม ให้ทายาทโดยธรรมรักษาไว้เป็นที่ระลึก แต่ไม่มีสิทธิประดับเหรียญกล้าหาญดังกล่าว
  4. ประกาศนียบัตร บุคคลหรือหน่วยทหารซึ่งได้รับพระราชทานเหรียญกล้าหาญ ให้มีประกาศนียบัตรทรงลงพระปรมาภิไธย ประทับพระราชลัญจกร
  5. ถ้าผู้ได้รับพระราชทาน หรือทายาทโดยธรรม ผู้รักษาเหรียญกล้าหาญนั้น กระทำความผิดร้ายแรง หรือประพฤติตนไม่สมเกียรติ อาจทรงเรียกคืนได้ ถ้าส่งคืนไม่ได้ด้วยประการใดๆ ภายในกำหนดหนึ่งเดือน ต้องใช้ราคาเหรียญนั้น โดยส่งคืนที่ส่วนราชการต้นสังกัด