NECTEC
NSTDA
Home
Computer
Program
Internet & Web
Graphics
CAI
Multimedia
Electrical Power
General Education
Special Education
Links
Webmaster

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย


เหรียญจักรพรรดิมาลา
The Chakrabarti Mala Medal

               เหรียญจักรพรรดิมาลา ใช้อักษรย่อ ร.จ.พ. เป็นเหรียญสำหรับพระราชทานเป็นบำเหน็จความชอบในราชการ เป็นเหรียญเงินกลมรูปจักร มีชนิดเดียว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาขึ้นเมื่อปีมะเส็ง ร.ศ.๑๑๒ (พ.ศ.๒๔๓๖) เนื่องในการพระราชพิธีรัชฎาภิเษก สมโภชสิริราชสมบัติครบ ๒๕ ปี สำหรับพระราชทานเป็นบำเหน็จความชอบแก่ผู้ปฏิบัติราชการดีทั่วไป ไม่มีกำหนดขีดคั่นอย่างใด

ประวัติการสร้างเหรียญจักรพรรดิมาลา

               รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
               พ.ศ. ๒๔๓๖ ร.ศ.๑๑๒ ทรงสถาปนาเหรียญนี้ขึ้น เนื่องในการ พระราชพิธีรัชฎาภิเษกสมโภชสิริราชสมบัติครบ ๒๕ ปี สำหรับพระราชทานเป็นบำเหน็จความชอบแก่ผู้ปฏิบัติราชการดี โดยไม่จำกัด ยศศักดิ์ ตามแต่พระราชอัธยาศัย มี ๓ ชนิด คือ ทองคำ เงินกะไหล่ทอง และเงิน ซึ่งทั้ง ๓ ชนิดนี้ มีเกียรติยศเสมอกัน

                เหรียญมีลักษณะเป็นรูปจักรขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๓.๓ เซนติเมตร ส่วนสูง ๖.๐ เซนติเมตร

               ด้านหน้า มีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระมหาพิชัยมงกุฏ ยอดมีรัศมี และพวงมาลัยใบชัยพฤกษ์วงรอบ ที่ขอบจักรมีอักษรว่า "จุฬาลงกรณ์ บรมราชาธิราช สยามินทร์"
               ด้านหลัง ที่ขอบจักรมีอักษรแสดงคุณของผู้ที่ได้รับพระราชทาน และแสดงศกที่ทรงสร้างเหรียญนี้ว่า "สำหรับปรนนิบัติราชการดี รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๒" ที่กลางเหรียญมีอักษรว่า "พระราชทานแก่" (และจะได้โปรดเกล้าฯ ให้จารึกนามผู้ที่ได้รับพระราชทานลงในกลางเหรียญที่ใต้พวงมาลัยที่มีช่อดอกไม้รองอยู่) ห้อยกับแพรแถบสีเหลือง ริมชมพู ห้อยกับเข็มมีอักษรว่า "ราชสุปรีย์" สำหรับประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้าย ผู้ที่ได้รับพระราชทานเหรียญนี้ไม่มีประกาศนียบัตรฯ เพราะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จารึกนามผู้ได้รับพระราชทานเหรียญนี้ไว้ที่กลางเหรียญแล้ว อย่างไรก็ตาม การสร้างเหรียญในคราวนั้น ก็ยังไม่ได้มีการประกาศเป็นพระราชบัญญัติ และยังไม่ได้พระราชทานฯ แก่ผู้ใด

ด้านหน้า
ด้านหลัง

               พ.ศ. ๒๔๓๘ ๓ มีนาคม ในวโรกาสเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติมาเป็นเวลาเสมอด้วย รัชการของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรา "พระราชบัญญัติเหรียญจักรพรรดิมาลารัตนโกสินทร์ศก ๑๑๔" ขึ้นประกาศใช้เป็นที่ระลึกในมหามงคลสมัยนั้น
               ครั้นต่อมา มีพระราชนิยมพระราชทานเหรียญจักรพรรดิมาลา แก่เจ้านายที่ได้รับพระราชทานพระสุพรรณบัฏ และขุนนางที่ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรมาครบ ๒๘ ปี เป็นบำเหน็จที่รับราชการยั่งยืนมั่นคงนาน ทำนองเดียวกับเหรียญจักรมาลาที่พระราชทานแก่ฝ่ายทหาร

               รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
               พ.ศ. ๒๔๕๔ ๒๙ สิงหาคม รศ. ๑๓๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นใหม่เรียกว่า "พระราชบัญญัติเหรียญจักรพรรดิมาลา รัตนโกสินทร์ศก ๑๓๐" กำหนดการพระราชทานเหรียญนี้สำหรับข้าราชการพลเรือน ที่รับราชการมาไม่ต่ำกว่า ๒๕ ปี นับตั้งแต่เข้ารับราชการ ให้เป็นบำเหน็จที่รับราชการมั่นคงยิ่งยืนนาน ทำนองเดียวกับเหรียญจักรมาลา ที่พระราชทานแก่นายทหารซึ่งรับราชการ ครบกำหนด ๑๕ ปี จึงสมควรแก้ไขพระราชบัญญัติให้สอดคล้องกับพระราชนิยมในระยะหลัง และแก้ไขรูปเหรียญให้เป็นคู่กันกับเหรียญจักรมาลาฝ่ายทหาร กล่าวคือ มีลักษณะเป็นรูปจักร

               ด้านหน้า มีรูปพระครุฑพ่าห์อยู่ในวงจักร
               ด้านหลัง มีรูปช้างอยู่ในวงจักร มีอักษรจารึก วงรอบว่า "บำเหน็จแห่งความยั่งยืนและมั่นคงในราชการ" ข้างบน มีเข็มวชิราวุธห้อยกับแพรแถบสีแดง ขอบสีเหลืองกับเขียว มีเข็มเงินเบื้องบนแพรแถบจารึกอักษรว่า "ราชสุปรีย์" สำหรับประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้าย และผู้ที่ได้รับพระราชทานนี้ได้รับประกาศนียบัตรเป็นสำคัญด้วย ส่วนผู้ที่ได้รับพระราชทานเหรียญจักรมาลาแล้ว ไม่ต้องรับพระราชทานเหรียญจักรพรรดิมาลาอีก หรือได้รับพระราชทานเหรียญจักรพรรดิมาลารัชกาลที่ ๕ ก็โปรดเกล้าฯ ให้คงใช้อย่างนั้นต่อไป

เหรียญจักรพรรดิมาลา
สร้างในสมัย ร.6
รศ.๑๓๐

ด้านหน้า
สร้างในสมัย ร.8
ใช้มาจนถึงปัจจุบัน

ด้านหลัง
สร้างในสมัย ร.8
ใช้มาจนถึงปัจจุบัน

 

               รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล
               พ.ศ. ๒๔๘๔ ได้มีการยกเลิกพระราชบัญญัติเหรียญจักรพรรดิมาลา รัตนโกสินทร์ศก ๑๓๐ และโปรดเกล้าฯ ให้ตรา "พระราชบัญญัติเหรียญจักรมาลา และเหรียญจักรพรรดิมาลา พุทธศักราช ๒๔๘๔" ขึ้นใช้แทนกำหนดลักษณะ และวิธีการประดับเหรียญ การพระราชทาน การส่งคืน หรือเรียกคืน ตลอดจนรายละเอียด ในการนับเวลาราชการของข้าราชการพลเรือน ที่มีสิทธิได้รับพระราชทานเหรียญฯ ใหม่ ซึ่งยังคงใช้อยู่จนปัจจุบันนี้ ลักษณะของเหรียญเหมือนครั้งสร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่างกันที่ไม่มี "เข็มราชสุปรีย์" ประดับบนแพรแถบ

               รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
               พ.ศ. ๒๕๐๗ โปรดเกล้าฯ ให้มีการตรา "พระราชบัญญัติเหรียญจักรมาลา และเหรียญจักรพรรดิมาลา (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๐๗ กำหนดความหมายของคำว่า "ทหาร และตำรวจ" และ "ข้าราชการพลเรือน" เพื่อให้สิทธิแก่พนักงานเทศบาล และคงไว้ซึ่งสิทธิของข้าราชการอัยการในการรับพระราชทานเหรียญนี้

               เหรียญจักรพรรดิมาลาในรัชกาลปัจจุบัน มีลักษณะเป็นเหรียญเงินรูปจักร

               ด้านหน้า มีรูปครุฑพ่าห์ อยู่ในวงจักร
               ด้านหลัง มีรูปช้างอยู่ในวงจักร จารึกอักษรโดยรอบว่า "บำเหน็จแห่งความยั่งยืน และมั่นคงในราชการ" เบื้องบนเหรียญ มีเครื่องหมายพระมหาวชิราวุธห้อยกับแพรแถบ กว้าง ๓ เซนติเมตร สีแดงขอบสีเหลืองกับสีเขียว ห้อยกับแพรแถบ ประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้าย

               สำหรับพระราชทานสตรี ใช้ห้อยกับแพรแถบผูกเป็นรูปแมลงปอ ประดับที่หน้าบ่าซ้าย

การพระราชทาน และการส่งคืน/การเรียกคืน

  1. สำหรับพระราชทานแก่ข้าราชการฝ่ายพลเรือน ที่รับราชการมาด้วยความเรียบร้อยเวลาไม่น้อยกว่า ๒๕ ปี การนับเวลาราชการ ให้นับโดยคำนวณเวลาราชการทั้งหมดของผู้นั้นรวมกัน แต่ถ้าผู้นั้นเข้ารับราชการก่อนอายุครบ ๑๘ ปีบริบูรณ์ ให้นับตั้งแต่อายุครบ ๑๘ ปีบริบูรณ์
  2. ทหารหรือตำรวจ ที่รับราชการมารวมเวลาราชการไม่น้อยกว่า ๒๕ ปี หากยังไม่เข้าเกณฑ์ที่จะรับพระราชทานเหรียญจักรมาลาก็ให้ได้รับพระราชทานเหรียญจักรพรรดิมาลาแทน
  3. พระราชทานเป็นกรรมสิทธิ์ เมื่อผู้ได้รับพระราชทานวายชนม์ให้ทายาทโดยธรรมรักษาไว้เป็นที่ระลึก
  4. ประกาศนียบัตร ผู้ซึ่งได้รับพระราชทานเหรียญนี้ จะได้รับพระราชทานประกาศนียบัตรฯ ทรงลงพระปรมาภิไธยประทับพระราชลัญจกรด้วย
  5. ถ้าผู้ได้รับพระราชทาน หรือทายาทโดยธรรม ประพฤติตนไม่สมเกียรติ อาจทรงเรียกคืนได้ ถ้าส่งคืนไม่ได้ ด้วยประการใดๆ ภายในกำหนดสามสิบวัน จะต้องใช้ราคาเหรียญแก่ทางราชการตามราคาที่กำหนด