NECTEC
NSTDA
Home
Computer
Program
Internet & Web
Graphics
CAI
Multimedia
Electrical Power
General Education
Special Education
Links
Webmaster

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย


เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา
The Dushdi Mala Medal

               เหรียญดุษฎีมาลา ใช้อักษรย่อ ร.ด.ม. (ศ) เป็นเหรียญบำเหน็จความชอบในราชการ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๕ อันเป็นมหามงคลสมัย ซึ่งบรรจบครบรอบร้อยปีที่หนึ่ง นับตั้งแต่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงสถาปนากรุงเทพพระมหานครอมรรัตนโกสินทร์ฯ และทรงเริ่มพระบรมราชจักรีวงศ์สืบรัตนราไชยมไหศวรรยยั่งยืน ต่อมาจนถึงรัชกาลของพระองค์ท่าน ในครั้งนั้นได้ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเครื่องราชอิสริยยศ เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์ คำนึงถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า มีนามว่า "เครื่องราชอิสริยยศอันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์" สำหรับพระราชทาน พระบรมวงศานุวงศ์ที่ได้ดำรงรักษาราชประเพณี และรักษาความสามัคคีในราชตระกูลยั่งยืนรุ่งเรืองสืบมา

ประวัติการสร้างเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา

               รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
               พ.ศ. ๒๔๒๕ เมื่อทรงสร้างเครื่องขัตติยราชอิสริยยศมหาจักรีบรมราชวงศ์แล้ว ทรงพระราชดำริว่า ข้าราชการที่ได้รับราชการมาด้วยดี มีความสามารถ ทำคุณประโยชน์ยิ่งใหญ่แก่ราชการนั้น ควรจะได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยยศด้วย จึงทรงพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเหรียญเครื่องประดับชื่อ "ดุษฎีมาลา" สำหรับพระราชทานทหาร และพลเรือน ตามความดีความชอบ ตามพระราชบัญญัติเหรียญดุษฎีมาลา พ.ศ. ๒๔๒๕ กำหนดให้มีเข็มพระราชทาน ประกอบกับเหรียญรวม ๕ ชนิด เข็มดังกล่าวนี้มีลักษณะปลายเป็นดอกปทุมทั้งสองข้าง สำหรับใช้กลัดติดกับแถบแพร เพื่อเป็นเครื่องหมายแสดงคุณพิเศษตามสาขา ความชอบแห่งผู้ได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา มีดังนี้

๑. เข็มราชการในพระองค์ (อักษรย่อ รดม.พ.) สำหรับพระราชทานผู้ที่ได้รับราชการ ในพระองค์ และรัชทายาท หรือผู้สืบบรมราชตระกูลวงศ์ และมีความชอบพิเศษ
๒. เข็มราชการแผ่นดิน (อักษรย่อ รดม.ผ.) สำหรับพระราชทานผู้ที่มีความชอบ ทำประโยชน์อย่างยิ่งแก่ราชการ แต่ยังไม่ควรถึงจะได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ช้างเผือก และมงกุฎสยาม
๓. เข็มศิลปวิทยา (อักษรย่อ รดม.ศ.) สำหรับพระราชทานผู้ที่เป็นนักปราชญ์ราชกวี นายช่าง และ ช่างฝีมือพิเศษ ที่ได้คิดริเริ่มประดิษฐ์สิ่งของเป็นแบบอย่าง หรือมีคุณประโยชน์ต่อบ้านเมืองและราชการ หรือผู้ที่ได้แต่งหนังสือตำรา วิทยาการต่างๆ ที่เป็นของเก่า ของใหม่ก็ดี ที่มีคุณประโยชน์ต่อราชการแผ่นดิน หรือผู้เป็นช่างฝีมืออย่างเอกไม่มีผู้เสมอ
๔. เข็มความกรุณา (อักษรย่อ รดม.ก.) สำหรับพระราชทานผู้ที่มีความเมตตากรุณาต่อเพื่อนมนุษย์ หรือบริจาคเกื้อกูล หรือ ช่วยเหลือ รักษาผู้ประสบภัยอันตรายให้รอดพ้นด้วยกำลังความสามารถองอาจอย่างสูง ถึงอาจเสี่ยงชีวิตของตน
๕. เข็มกล้าหาญ (อักษรย่อ รดม.ห.) สำหรับพระราชทานแก่นายทหารชั้นผู้ใหญ่ ผู้น้อย ทั้งบกเรือ และข้าราชการในกองทัพ ลูกเรือ กะลาสี ขุนหมื่นกรมการ ไพร่หลวง ไพร่สม ทั้งหลายที่ได้ต่อสู้ข้าศึกศัตรูแห่งราชอาณาจักร โดยความภักดีต่อแผ่นดินและราชการ

               ลักษณะเป็นเหรียญกลมรีขนาดกว้าง ๔.๑ เซนติเมตร ส่วนสูง ๔.๖ เซนติเมตร
               ด้านหน้า เป็นพระบรมรูป สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีอักษรจารึกตามขอบข้างบนว่า "จุฬาลงกรณว์หัส์สปรมราชาธิราชิโฺน" แปลว่า เป็นของพระบรมราชาธิราชเจ้า ผู้ทรงพระนามว่า จุฬาลงกรณ์ ขอบล่างเป็นใบชัยพฤกษ์ไขว้กัน รองรับพระบรมรูป ให้พระบรมรูปมีอักษรโรมันตัวจิ๋วว่า J.S. & A.B. WYON SC

               ด้านหลัง เป็นรูปพระสยามเทวาธิราช ทรงพระขรรค์ยืนแท่นพิงโล่ตราแผ่นดิน พระหัตถ์ขวาทรงพวงมาลัยจะสวมที่ตรงจารึกชื่อผู้ได้รับพระราชทาน ใต้แท่นมีเลข ๑๒๔๔ บอกจุลศักราชปีที่สร้าง (พุทธศักราช ๒๔๒๕) และมีอักษรรอบขอบนอกเป็นภาษามคธว่า "สยามิน์ทปรมราชตุฏ์ฐีป์ปเวทนํอิทํ" แปลว่า "เหรียญนี้เป็นเครื่องหมายแสดงความยินดีของพระราชาผู้ยิ่งใหญ่ คือ พระเจ้ากรุงสยาม" ริมขอบนอกของเหรียญมีอักษรมคธว่า สัพ์เพสํสํฆภูตานํ สามัค์คี วุฑ์ฒิสาธิกา แปลว่า "ความสามัคคีของบุคคลผู้รวมกันเป็นหมู่คณะย่อมเป็นเครื่องยังความเจริญให้สำเร็จ" เบื้องบนมีพระขรรค์ไชยศรี กับธารพระกรไขว้กัน มีห่วงยึดกับเหรียญ และติดกับแผ่นโลหะจารึกว่า "ทรงยินดี" ใช้ห้อยกับแพรแถบ ริ้วแดง ริ้วขาว สำหรับฝ่ายทหาร (หรือผู้ได้รับพระราชทานเป็นขัตติย คือ เจ้านาย) และแพรแถบริ้วขาวริ้วชมพู สำหรับฝ่ายพลเรือน โดยให้ประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้าย

               อนึ่ง วิธีการขอรับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลานั้น ในชั้นเดิมแล้วแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงพระราชวินิจฉัยอย่างเดียว บางครั้งผู้รับพระราชทานนั้น ได้มีหนังสือกราบบังคมทูล ขอพระราชทานให้ก็มี หรือผู้บังคับบัญชา เจ้ากระทรวง กราบบังคมทูลขอพระราชทานให้ก็มี ถ้าทรงเห็นสมควร ก็จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน ต่อมาได้โปรดเกล้าฯ ให้เสนาบดีเจ้ากระทรวงกราบบังทูลเสนอความชอบ แล้วจึงทรงพระราชวินิจฉัย ครั้นเมื่อมีข้าราชการมากขึ้น ก็ยากแก่เจ้ากระทรวงจะวินิจฉัย และกราบบังคมทูลเสนอนามผู้สมควรได้รับพระราชทาน เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยาทั่วถ้วน

               ผู้ที่ได้รับพระราชทานเหรียญนี้ ถ้ามิได้ประพฤติตนสมควรแก่เกียรติยศ หรือมีความผิดเป็บขบถ ทำผิดเป็นมหันตโทษ ก็จะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ถอดผู้กระทำความผิดนั้นจากบรรดาผู้ที่ได้รับเกียรติยศ และเรียกเหรียญคืน ตลอดจน งดเบี้ยหวัดเบี้ยเลี้ยง ซึ่งพระราชทานตามพระราชบัญญัตินี้ทั้งสิ้น

เหรียญดุษฎีมาลา ประดับเข็มพระราชทานชนิดต่างๆ
เหรียญดุษฎีมาลา สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

               รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
               ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แก้ไขเหรียญดุษฎีมาลาให้มีขนาดย่อมกว่าเดิม มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๓.๑ เซนติเมตร สูง ๓.๙ เซนติเมตร ส่วนลักษณะอื่นคงเดิม
พ.ศ. ๒๔๕๔ ร.ศ. ๑๓๐
               ทรงพระราชดำริว่า เหรียญดุษฎีมาลา เข็มราชการในพระองค์ซึ่งสร้างขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น เป็นการเฉพาะในรัชกาลนั้น ถ้าจะพระราชทานในรัชกาลของพระองค์จะเป็นการขัดอยู่ จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างดวงตราสำหรับพระราชทานเป็นบำเหน็จความชอบในพระองค์ขึ้นใหม่ เรียกว่า ตราวชิรมาลา ตามพระราชบัญญัติตราวชิรมาลา รัตนโกสินทรศก ๑๓๐ ได้บัญญัติว่าตราวชิรมาลานี้ สำหรับพระราชทานผู้ที่ได้รับราชการฉลองพระเดชพระคุณในพระองค์ และ รัชทายาท แลราชตระกูล โดยความจงรักภักดีที่จะให้เป็นคุณประโยชน์ เป็นพระเกียรติยศในพระองค์แลราชตระกูล

ด้านหน้า
สำหรับพระราชทานทหาร ตำรวจ (หรือขัตติย)

ด้านหน้า
สำหรับพระราชทานพลเรือน

ด้านหลัง
สำหรับพระราชทานทหาร

               รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
               พ.ศ. ๒๔๗๑ ๒๐ พฤศจิกายน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งระเบียบการเลือกสรรค์ข้าราชการ ผู้สมควรรับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยาขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๑ ดังรายละเอียดปรากฏใน "ประกาศแจ้งความกรมราชเลขาธิการ (ฉบับที่ ๓/๒๔๗๑) เรื่องระเบียบเลือกสรรค์ข้าราชการ ซึ่งสมควรจะรับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา"

               ผู้ซึ่งสมควรจะรับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยานั้น ต้องเป็นข้าราชการผู้ทรงคุณวุฒิวิเศษ อันได้สำแดงให้ประจักษ์แล้วอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ คือ เป็นผู้ต้นคิดชั้นเยี่ยมในศิลปหรือวิทยา

               คุณวิเศษของผู้ต้นคิดนั้น คือได้คิดแบบ หรือวิธีอันใดให้เป็นประโยชน์ขึ้นใหม่ในศิลปวิทยา หรือคิดแก้ไขแบบ หรือวิธีมีอยู่แล้วให้เป็นประโยชน์ยิ่งขึ้น หรือเป็นผู้เชี่ยวชาญชั้นเยี่ยมในศิลปหรือวิทยา

คุณวิเศษของผู้เชี่ยวชาญในศิลปหรือวิทยานั้น คือ
(ก) ความสามารถแต่งหนังสือดีถึงขนาด มีปริมาณพอให้เห็นได้ว่าทรงความสามารถจริง และหนังสือนั้นได้พิมพ์โฆษณาแล้ว ถ้าเป็นหนังสือที่แปลมาจากภาษาอื่น หนังสือซึ่งนำมาแปลต้องเป็นหนังสืออันนิยมกันว่าเป็นแบบแผนดี หรือ
(ข) ความสามารถแสดงฝีมือ มีวัตถุและปริมาณให้เห็นได้ว่าทรงความสามารถจริง หรือ
(ค) ความสามารถขับรำทำเพลงดีถึงขนาด ปรากฏเกียรติกว้างขวางเป็นที่นิยมทั่วไป
ฉะนั้นจึงอาจเป็นผู้ได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา โดยวิธีเลือกสรรค์

               รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล
               พ.ศ. ๒๔๘๔ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรา "พระราชบัญญัติเหรียญดุษฎีมาลา พุทธศักราช ๒๔๘๔" ออกใช้แทน จึงได้ยกเลิกพระราชบัญญัติเดิม และกำหนดลักษณะตลอดจนวิธีการเสียใหม่

               พ.ศ. ๒๔๘๕ โปรดเกล้าฯ ให้ตรา "พระราชบัญญัติเหรียญดุษฎีมาลา (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๔๘๕" ตามพระราชบัญญัตินี้ ระบุว่า "เหรียนนี้สำหรับพระราชทานผู้ซงคุณวุฒิในทางสิลปวิทยา อันได้แสดงไห้ประจักษ์เปนพิเสสแล้ว ตามที่ซงพระราชดำหริเห็นสมควน และถ้าผู้ที่ได้รับพระราชทานเหรียนนี้ได้ใช้สิลปวิทยาเปนคุณประโยชน์ให้แก่ชาติบ้านเมืองได้ผลถึงขนาด ผู้นั้นอาดได้รับพระราชทานเงินพิเสสประจำเดือน ซึ่งชาติให้เปนการตอบแทน เงินพิเสสนี้จะได้กำหนดเปนกรนีๆ คิดเปนเงินปี รายหนึ่งปีหนึ่ง หย่างสูงสำหรับผู้ต้นคิดชั้นเยี่ยมไม่เกิน ๔,๘๐๐ บาท นอกจากนั้นไม่เกิน ๑,๒๐๐ บาท และจะจ่ายไห้ตลอดชีวิตของผู้ที่ได้รับพระราชทาน เว้นแต่ผู้นั้นประพรึตตนไม่สมเกียรติ หรือไม่อยู่พายไต้ระเบียบและวินัยซึ่งกำหนดไว้ ก็อาดถูกตัดเงินพิเสสดังกล่าวนี้ได้"

หมายเหตุ พิมพ์ตามราชกิจจานุเบกษา ตัวสะกดการันต์ปรากฏในพระราชบัญญัติใช้ในขณะนั้น

               รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
               พ.ศ. ๒๕๒๑ นายกรัฐมนตรี (พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์) โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ได้เห็นเป็นการสมควรวางระเบียบว่าด้วยการขอพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา พ.ศ. ๒๕๒๑ รวม ๑๒ ข้อ กำหนดให้พิจารณาผลงานของผู้ซึ่งสมควรจะได้รับการพิจารณาขอพระราชทานตามสาขาวิชา สาขาใด สาขาหนึ่ง หรือหลายสาขารวมกัน ดังต่อไปนี้ มนุษย์ศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ วิจิตรศิลป์ สังคมศาสตร์ นิติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ แพทย์ศาสตร์ เกษตรศาสตร์ หรือสาขาวิชาการอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการพิจารณาการขอพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา พิจารณาเห็นสมควร

               เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา เป็นเหรียญเงิน กลมรี กะไหล่ทอง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๓.๑ เซนติเมตร ส่วนสูงขนาด ๓.๙ เซนติเมตร ไม่มีข้อความใดๆ ทางด้านหน้าและรอบขอบนอกของเหรียญ

               ด้านหน้า มีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เบื้องล่างมีใบชัยพฤกษ์ไขว้
               ด้านหลัง มีรูปพระสยามเทวาธิราชทรงพระขรรค์ยืนแท่นพิงโล่ พระหัตถ์ซ้ายทรงพวงมาลาจะสวม ที่ตรงจารึกนามผู้รับมีเลข ๑๒๔๔ ซึ่งเป็นปีสร้างเหรียญที่ห่วงเหรียญเป็นรูปพระขรรค์ชัยศรีกับธารพระกร ไขว้รองรับแผ่นโลหะจารึกอักษรว่า "ทรงยินดี" ห้อยกับแพรแถบกว้าง ๓ เซนติเมตร ริ้วแดงริ้วขาว สำหรับพระราชทาน ฝ่ายพลเรือน กับมีเข็มปลายเป็นช่อปทุมทั้งสองข้าง จารึกอักษรว่า "ศิลปวิทยา" กลัดที่แพรแถบเหนือเหรียญ สำหรับประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้าย
               สำหรับพระราชทานสตรี ให้ห้อยกับแพรแถบผูกเป็นรูปแมลงปอ ประดับเสื้อที่หน้าบ่าซ้าย

เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา พระราชทานในรัชกาลปัจจุบัน

ด้านหน้าทหารตำรวจ
(บุรุษ)

ด้านหลังพลเรือน
(บุรุษ)

ด้านหน้าพลเรือน
(สตรี)

 

การพระราชทาน และการส่งคืน/การเรียกคืน

  1. สำหรับพระราชทานแก่ผู้ทรงคุณวุฒิในทางศิลปวิทยา อันได้แสดงให้ประจักษ์เป็นพิเศษแล้ว ซึ่งจะได้พระราชทานตามที่ทรงดำริเห็นสมควร หากผู้รับพระราชทานทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติถึงขนาด ก็อาจได้รับพระราชทานเงินพิเศษตลอดชีพด้วย

  2. พระราชทานให้เป็นกรมสิทธิ์แก่ผู้รับ เมื่อผู้ได้รับพระราชทานวายชนม์ ให้ทายาทโดยธรรมรักษาไว้เป็นที่ระลึก

  3. เหรียญนี้ไม่มีประกาศนียบัตรฯ เพราะได้จารึกชื่อผู้รับพระราชทานไว้ด้านหลังของเหรียญแล้ว

  4. ถ้าผู้รับหรือทายาทโดยธรรมของผู้รับ กระทำความผิดอย่างร้ายแรง หรือประพฤติตนไม่สมเกียรติ อาจทรงเรียกคืนได้ ถ้าส่งคืนไม่ได้ด้วยประการใดๆ จะต้องใช้ราคาเหรียญนี้แก่ทางราชการตามราคาที่กำหนด ดังนี้ เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา สำหรับพระราชทานทหาร พลเรือนบุรุษและพลเรือนสตรี ราคา ๑,๐๐๐ บาท