NECTEC
NSTDA
Home
Computer
Program
Internet & Web
Graphics
CAI
Multimedia
Electrical Power
General Education
Special Education
Links
Webmaster

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย


เหรียญราชรุจิ
The Rajaruchi Medal

                  เป็นเหรียญสำหรับพระราชทาน เป็นบำเหน็จในพระองค์พระมหากษัตริย์

                  เหรียญราชรุจินี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาขึ้นสำหรับพระราชทานแก่ข้าราชการในพระราชสำนัก นายทหารรักษาพระองค์ และผู้มีความชอบในราชสำนัก ทั้งสำหรับพระราชทานแก่ข้าราชการ ในพระราชสำนัก แห่งพระเจ้าแผ่นดินต่างประเทศ ชั้นมหาดเล็กรับใช้ เป็นต้น ครั้นถึงรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงสถาปนาเหรียญราชรุจิขึ้น เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๔ และต่อมาถึงรัชกาลที่ ๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงสถาปนาเหรียญนี้ขึ้น เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๐ รัชกาลที่ ๘ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ไม่ได้ทรงสร้างเหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ ๙ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงสถาปนาเหรียญราชรุจิขึ้น เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๒

                  ฉะนั้น เหรียญราชรุจิที่ได้รับการสถาปนามาตั้งแต่รัชกาล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงรัชกาล พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงได้แก่ เหรียญราชรุจิรัชกาลที่๕ เหรียญราชรุจิรัชกาลที่๖ เหรียญราชรุจิรัชกาลที่๗ และ เหรียญราชรุจิรัชกาลที่๙

                  เหรียญราชรุจิมี ๒ ชนิด คือ กะไหล่ทองและเงิน เป็นเหรียญรูปกลม เหรียญทอง ใช้อักษรย่อว่า "ร.จ.ท." เหรียญเงินใช้อักษรย่อว่า "ร.จ.ง." และเติมเลขรัชกาลต่อท้าย เช่น เหรียญราชรุจิทอง(รัชกาลที่๕) หรือ ร.จ.ท.(๕) ดังนี้ ประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้าย เหรียญราชรุจินี้ ต้องส่งคืนเมื่อถูกเรียกคืน

เหรียญราชรุจิรัชกาลที่ ๕
King Chulalongkorn's Rajaruchi Medal (Rama V)

                  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อปีระกา ร.ศ.๑๑๖ (พ.ศ.๒๔๔๐) ก่อนเสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรปครั้งแรก สำหรับพระราชทาน แก่ผู้มีความชอบในพระองค์ รองจากเหรียญรัตนาภรณ์ เหรียญมีลักษณะเป็นเหรียญเงิน และ เหรียญเงินกะไหล่ทอง เป็นเหรียญรูปกลมแบน

ด้านหน้า มีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐานอยู่กลาง และมีอักษรที่ริมขอบเบื้องบนว่า "จุฬาลงกรโณปรมราชาธิราชา"
ด้านหลัง เป็นรูปจักร และมีอักษรที่กลางวงจักรว่า "ราชรุจิยา ทินฺนมิทํ"
สำหรับพระราชทานฝ่ายหน้า(บุรุษ) ใช้ประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้าย
สำหรับพระราชทานฝ่ายใน(สตรี) แพรแถบผูกเป็นรูปแมลงปอ ประดับเสื้อที่หน้าบ่าซ้าย

ปัจจุบันเป็นเหรียญที่พ้นสมัยพระราชทาน

เหรียญราชรุจิ รัชกาลที่๕ เหรียญราชรุจิ รัชกาลที่๕ เหรียญราชรุจิ รัชกาลที่๕
(ฝ่ายใน)
เหรียญราชรุจิรัชกาลที่ ๖
King Vajiravudh's Rajaruchi Medal (Rama VI)

                  พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเหรียญราชรุจิ รัชกาลที่๖ ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๔

                  เหรียญนี้มีลักษณะ และลวดลายเหมือนเหรียญราชรุจิรัชกาลที่๕ ต่างกันแต่ ด้านหน้ามีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว และมีอักษรที่ริมขอบว่า "วชิราวุโธ ปรมราชาธิราชา"
                  ห้อยกับแพรแถบสีขาบเข้ม กว้าง ๓.๑ เซติเมตร

สำหรับพระราชทานฝ่ายหน้า(บุรุษ) ใช้ประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้าย
สำหรับพระราชทานฝ่ายใน(สตรี) เหรียญห้อยกับแพรแถบ ผูกเป็นรูปแมลงปอ ใช้ประดับที่เสื้อหน้าบ่าซ้าย

ปัจจุบันเป็นเหรียญที่พ้นสมัยพระราชทาน

เหรียญราชรุจิ รัชกาลที่๖ เหรียญราชรุจิ รัชกาลที่๖ เหรียญราชรุจิ รัชกาลที่๖
(ฝ่ายใน)
เหรียญราชรุจิรัชกาลที่ ๗
King Prajadhipok's Rajaruchi Medal (Rama VII)

                พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๐ มีเหรียญเงินกะไหล่ทอง และเหรีญเงิน           

                  เหรียญนี้มีรูปลักษณะ และลวดลายเหมือนเหรียญราชรุจิรัชกาลที่ ๕ ต่างแต่ ด้านหน้า มีพระบรมรูป พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และมีอักษรที่ริมขอบเบื้องบนว่า "ราชรุจิยา ทินฺนมิทํ" ห้อยกับแพรแถบสีเขียว กว้าง ๓.๓ เซนติเมตร ด้านหลัง มีรูปจักร

สำหรับพระราชทานฝ่ายหน้า(บุรุษ) ใช้ประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้าย

สำหรับพระราชทานฝ่ายใน(สตรี) เหรียญห้อยกับแพรแถบ ผูกเป็นรูปแมลงปอ ใช้ประดับที่เสื้อหน้าบ่าซ้าย

ปัจจุบันเป็นเหรียญที่พ้นสมัยพระราชทาน

เหรียญราชรุจิ รัชกาลที่๗
ด้านหน้า
เหรียญราชรุจิ รัชกาลที่๗
ด้านหลัง
เหรียญราชรุจิรัชกาลที่ ๙
King Bhumibol Adulyadej's Rajaruchi Medal (Rama IX)

                พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช   ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๒ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรให้มีเหรียญราชรุจิรัชกาลปัจจุบัน ขึ้นไว้สำหรับพระราชทานเป็นเครื่องหมายแห่ง พระมหากรุณาธิคุณตามพระราชอัธยาศัย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำ และ ยินยอมของ สภาร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะรัฐสภา ให้เรียกพระราชบัญญัติฉบับนี้ว่า "พระราชบัญญัติเหรียญราชรุจิ รัชกาลที่๙ พ.ศ.๒๕๐๒"

                  เหรียญราชรุจิรัชกาลที่ ๙ เป็นเหรียญกลมแบน ทำด้วยเงินกะไหล่ทอง และทำด้วยเงินอีกชนิดหนึ่ง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๓ เซนติเมตร ด้านหน้า มีพระบรมรูป พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ครึ่งพระองค์ ทรงหันพระพักตร์ ทางเบื้องขวา มีอักษรจารึกอยู่ริมขอบว่า "ภูมิพโล ปรมราชาธิราชา" ด้านหลัง มีรูปจักร กลางวงจักร จารึกอักษรว่า "ราชรุจิยา ทินฺนมิทํ" มีห่วงห้อยกับแพรแถบกว้าง ๓๔ มิลลิเมตร สีเหลือง ริมสีขาว สำหรับพระราชทานบุรุษ ประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้าย สำหรับพระราชทานสตรี ใช้ห้อยกับแพรแถบ ผูกเป็นรูปแมลงปอ ประดับเสื้อที่หน้าบ่าซ้าย

เหรียญราชรุจิทอง
บุรุษ
เหรียญราชรุจิเงิน
บุรุษ

เหรียญราชรุจิเงิน (ด้านหน้า)
สตรี

การพระราชทาน

๑. เหรียญราชรุจิสำหรับพระราชทานเป็นเครื่องหมายแห่งพระมหากรุณาธิคุณ ตามพระราชอัธยาศัย
๒. การพระราชทานให้เป็นสิทธิ แก่ผู้ได้รับพระราชทาน หากผู้นั้นล่วงลับไปแล้ว ก็ให้ตกทอดแก่ทายาท เพื่อรักษาไว้เป็นที่ระลึกในวงศ์ตระกูลสืบไป แต่ไม่มีสิทธิที่จะประดับเหรียญนี้
๓. ผู้ได้รับพระราชทานเหรียญนี้ จะเขียนอักษรย่อไว้ท้ายชื่อ ก็ให้เขียน ดังนี้
ผู้ได้รับพระราชทานเหรียญราชรุจิทอง ให้เขียนว่า ร.จ.ท.๙
ผู้ได้รับพระราชทานเหรียญราชรุจิเงิน ให้เขียนว่า ร.จ.ง. ๙