NECTEC
NSTDA
Home
Computer
Program
Internet & Web
Graphics
CAI
Multimedia
Electrical Power
General Education
Special Education
Links
Webmaster
CAI - CBT - WBT - E-Learning

แนวโน้มอีเลิร์นนิ่ง ปี 2547

สถาบันการศึกษาที่ได้สำรวจจำนวน 614 แห่ง มี 294 สถาบัน ที่มีหลักสูตรที่เปิดสอนแบบอีจากปีที่ผ่านมา การศึกษาแบบอีเลิร์นนิ่งเป็นที่รู้จัก และได้รับความนิยมกว้างขวางขึ้น หลายสถาบันการศึกษาทั่วโลก ได้นำการศึกษาแบบอีเลิร์นนิ่ง มาพัฒนาใช้กับหลักสูตรการศึกษาที่มีอยู่เดิม

สำหรับปี พ.ศ. 2547 นี้ แนวโน้มอีเลิร์นนิ่งจะเป็นอย่างไร ลองมาฟังความคิดเห็นจากสำนักข่าวและผู้เชี่ยวชาญ ที่ได้คาดการณ์ถึงแนวโน้มของอีเลิร์นนิ่งในปี พ.ศ. 2547 นี้กันดู สำนักข่าวซีดีเน็ต (ZD Net) รายงานว่า บรรดาอาจารย์ผู้สอนจากสถาบันการศึกษาระดับสูงหลายแห่งในสหราชอาณาจักร เทคะแนนเต็มให้กับการศึกษาแบบอีเลิร์นนิ่ง อาจารย์หลายท่านกล่าวว่า คอมพิวเตอร์ และอินเทอร์เน็ตกำลังแสดงบทบาทสำคัญ ในการปรับปรุงการสอนของหลายสถาบันการศึกษาในสหราชอาณาจักร

ในการสำรวจอาจารย์ 150 ท่าน จากสถาบันการศึกษาระดับสูงในอังกฤษ พบว่าร้อยละ 15 เชื่อว่าอีเลิร์นนิ่งช่วยส่งเสริมการศึกษาให้ดีขึ้น ร้อยละ 94 ให้ความเห็นว่า การผสมผสานระหว่างการสอนแบบออนไลน์และการสอนแบบเดิมที่เรียนในห้องเรียนจริง จะมีประสิทธิภาพมากกว่าการสอนในห้องเรียนจริงอย่างเดียว ร้อยละ 90 กล่าวว่า จำนวนนักศึกษาที่จบการศึกษาจากการเรียนแบบอีเลิร์นนิ่งเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ

อาจารย์ท่านหนึ่งจากมหาวิทยาลัยลีดส์ เมโทรโพลิแทน (Leeds Metropolitan University) กล่าวว่า การเรียนแบบออนไลน์นำโอกาสใหม่ ๆ มาสู่การศึกษาระดับสูง เพราะมีนักศึกจำนวนมากที่กำลังเรียนในหลักสูตรนอกเวลา และไม่สามารถเข้าเรียนในห้องเรียนได้ทุกวิชา เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านเวลา

บรรดาสถาบันการศึกษาในอังกฤษกำลังส่งเสริมให้มีจำนวนนักศึกษาที่จบการศึกษาระดับสูงเพิ่มมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ยากที่จะควบคุมการเพิ่มจำนวนของนักศึกษาที่พักการเรียน และนักศึกษาที่เลิกเรียนกลางคัน ถ้าอีเลิร์นนิ่งสามารถช่วยทำให้รัฐบาลบรรลุเป้าหมาย ที่ต้องการให้วัยรุ่นจำนวนครึ่งหนึ่งของจำนวนวัยรุ่นทั้งหมดในอักฤษ มีการศึกษาระดับสูงได้ หลายมหาวิทยาลัยอาจจะยอมเพิ่มการลงทุนในด้านคอมพิวเตอร์ เครือข่ายและสื่อการเรียนการสอนผ่านเว็บ

ลองมาดูแนวโน้มอีเลิร์นนิ่งในประเทศแถบเอเชียกันบ้าง เว็บทีดีซีเทรดดอทคอม (www.tdctrade.com) ได้รายงานถึงโอกาสของอีเลิร์นนิ่งในฮ่องกงไว้หลายประการ เช่น

  • ประการที่หนึ่ง อีเลิร์นนิ่งกลายเป็นแนวโน้มระดับโลกในอุตสาหกรรมการศึกษา
  • ประการที่สององค์กรต่าง ๆ จะจัดให้มีหลักสูตรออนไลน์
  • ประการที่สาม กระทรวงศึกษาธิการจะสนับสนุนเงินทุนในด้านไอทีเพื่อการศึกษามากขึ้น
  • ประการที่สี่ ประสบการณ์การพัฒนาอีเลิร์นนิ่งในฮ่องกงจะช่วยเป็นกำลังสนับสนุนสำหรับตลาดการศึกษาในจีน

รีด เอส เกตเทอร์ รองประธานฝ่ายการตลาดของบริษัทดิจิตอลธิ้งค์ ซึ่งเป็นบริษัทผู้ให้บริการด้านอีเลิร์นนิ่ง รับปรึกษาและแก้ปัญหาธุรกิจผ่านทางระบบอีเลิร์นนิ่ง ได้คาดการณ์แนวโน้มของอีเลิร์นนิ่งในปี 2547 ไว้ 5 ประการ ดังนี้

  • ประการที่หนึ่ง คอร์สแวร์การศึกษาแบบอีเลิร์นนิ่งจะมีการให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้นสำหรับสื่อการสอนแบบอีเลิร์นนิ่ง
  • ประการที่สอง ผู้บริโภคจะเลือกจ้างหน่วยงานภายนอกจัดบริการอีเลิร์นนิ่งให้ แทนที่จะดำเนินการด้านอีเลิร์นนิ่งเอง
  • ประการที่สาม ผู้บริโภคจะจัดสรรงบประมาณเพื่อใช้จ่ายในด้านอีเลิร์นนิ่งมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้ให้บริการเติบโตมากขึ้น
  • ประการที่สี่ จะมีการใช้แบบจำลองในด้านอีเลิร์นนิ่งมากขึ้น
  • ประการที่ห้า จะมีการเรียนการสอนแบบอีเลิร์นนิ่งตามความต้องการของลูกค้ามากกว่าการเรียนในห้องเรียน

เกตเทอร์ยังกล่าวอีกว่า ในปี 2546 ได้เห็นการเปลี่ยนแปลง ที่เน้นไปในด้านผู้เรียนและการให้ความสำคัญกับการถ่ายทอดความรู้และทักษะแก่ผู้เรียน สำหรับในปี 2547 นี้ ก็จะยิ่งให้ความสำคัญในสองสิ่งนี้เพิ่มขึ้นไปอีก หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ตลาดโลกจะมุ่งเน้นที่การพัฒนาระบบเดิมให้ดียิ่งขึ้น รวดเร็วยิ่งขึ้น และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

สำนักวิจัยไอีดีซี (IDC) ได้ทำนายตลาดการศึกษาระดับสูงในอเมริการไว้ว่า ปลายปี 2547 ร้อยละ 90 ของวิทยาลัยทั้งหมดในอเมริกาจะมีหลักสูตรอีเลิร์นนิ่ง จากที่เคยสำรวจพบเพียงร้อยละ 47 ในปี 2543 นอกจากนี้ สำนักวิจัยไอดีซี่ยังได้คาดการณ์ การเติบโตของอุตสาหกรรมอีเลิร์นนิ่งในส่วนของตลาดอีเลิร์นนิ่งสำหรับบริษัท ห้างร้านว่า ปี 2547 จะเป็นปีที่บริษัท ห้างร้านต่าง ๆ ทั่วโลกสนับสนุนอีเลิรนนิ่ง โดยมุ่งเน้นไปที่การฝึกอบรมพนักงานเพื่อให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยประมาณการไว้ว่า ตลาดอีเลิร์นนิ่งของโลก เฉพาะการฝึกอบรมพนักงานบริษัท ห้างร้านต่าง ๆ จะเป็น 23,700 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 924,300 ล้านบาท ในปี 2549 เทียบกับ 6,600 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 257,400 ล้านบาทในปี 2545

ส่วนในญี่ปุ่น มีรายงานว่า ตลาดอีเลิร์นนิ่งสำหรับบริษัท ห้างร้านต่าง ๆ ในญี่ปุ่นมีมูลค่าสูงกว่าที่ไอดีซีทำนายไว้ถึงประมาณ 7 เท่า นั่นคือ ประมาณ 7 ล้านล้านบาท

เมื่อได้อ่านรายงานของสำนักข่าว สำนักวิจัย และความเห็นของผู้ที่คลุกคลีอยู่ในวงการอีเลิร์นนิ่งแล้ว ก็พอจะมองเห็นอนาคตอันรุ่งโรจน์ของอีเลิร์นนิ่ง ว่าหลายประเทศทั่วโลกให้ความสนใจ และต่างตั้งหน้าหน้าตั้งตามุ่งพัฒนาอีเลิร์นนิ่งสำหรับอุตสาหกรรมการศึกษา เพื่อให้อุตสาหกรรมการศึกษาของประเทศทันสมัย มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เทคโนโลยีทางการศึกษาที่ทันสมัย จะทำให้พลเมืองในประเทศได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง มีโอกาสศึกษาถึงระดับสูงได้

นอกจากการศึกษาในสถาบันการศึกษาระดับสูงแล้ว อีเลิร์นนิ่งสำหรับฝึกอบรมพนักงานบริษัท ห้างร้านต่าง ๆ ก็มีแนวโน้มที่สดใสเช่นกัน หลายบริษัทนำอีเลิร์นนิ่งไปใช้อบรมพนักงานแล้ว และอีกหลายบริษัทก็เริ่มนำอีเลิร์นนิ่งมาใช้เช่นกัน

ที่มา : ศรีศักดิ์ จามรมาน :: หนังสือพิมพ์เทลคอมเจอร์นัล ฉบับวันที่ 19 – 25 มกราคม 2547 หน้า 23