NECTEC
NSTDA
Home
Computer
Program
Internet & Web
Graphics
CAI
Multimedia
Electrical Power
General Education
Special Education
Links
Webmaster
CAI - CBT - WBT - E-Learning

หลักสูตรเพื่อการพัฒนา e-Learning

คำถามที่ผมได้รับมากที่สุดทุกวันนี้ก็คือ การพัฒนาสื่อการเรียนการสอนในรูปแบบ e-Learning มีวิธีการใด จำเป็นต้องเรียนรู้เนื้อหาวิชาใดบ้าง การพัฒนายากหรือไม่ มีเครื่องมือช่วยเหลืออย่างใด สำหรับผมแล้วคำถามนี้เป็นคำถามที่ตอบยากมาก เนื่องจากมีองค์ประกอบมาเกี่ยวข้องค่อนข้างเยอะ ก่อนที่จะตอบคำถามดังกล่าว ผมมักจะย้อนถามกลับไปว่า “ คุณอยากได้ e-Learning ลักษณะใดบ้าง ” เพื่อเป็นแนวทางในการตอบ ดังนั้นการพัฒนา e-Learning ในแนวคิดของผม คงจะต้องย้อนถามก่อนว่า e-Learning ที่แต่ละท่านสนใจ มีลักษณะใด ซึ่งผมพอจะแบ่งได้ดังนี้

e-Learning ในลักษณะ Web Based Learning

e-Learning ในลักษณะนี้มีจุดเด่น คือ เน้นการเรียนการสอนในลักษณะสื่อเสริม เป็นการเรียนรู้ด้วยตนเอง ไม่จำกัดกลุ่มผู้เรียน ไม่จำเป็นต้องมีระบบติดตาม /บริหารจัดการการเรียนรู้ (Learning Management System: LMS) เช่น ระบบสมาชิก, ระบบติตตาม/ประเมินผลการเรียน รวมถึงระบบบริหารจัดการหลักสูตร/เนื้อหา (Content Management System: CMS)

ถ้าคำตอบของคุณ คือ e-Learning ลักษณะนี้ ก็คงไม่ยากนัก ก่อนอื่นก็คงมาดูว่าเนื้อหาที่ต้องการนำเสนอ อยากได้รูปแบบใดบ้าง ซึ่งพอจะแบ่งได้ดังนี้

  • Webpage
  • GIF Animation
  • Flash
  • PowerPoint
  • PDF

จากรูปแบบเนื้อหาข้างต้น ก็พอจะสรุปได้แล้วว่าคุณควรจะศึกษาอะไรบ้าง แน่นอนครับการพัฒนาเอกสารเว็บเป็นเนื้อหาแรกที่คุณจะต้องศึกษา ในประเด็นนี้ก็คงจะเริ่มจากทฤษฏีการพัฒนาเว็บเพจ ท่านที่สนใจลองศึกษาได้จาก http://www.nectec.or.th/courseware/internet/web-tech จากนั้นก็ต่อด้วยการสร้างชิ้นงานกราฟิก การออกแบบหน้าเว็บ และองค์ประกอบอื่นๆ ที่เป็นรูปภาพ เช่น ภาพประกอบเนื้อหา, ปุ่ม, แบนเนอร์ ภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหวต่างๆ จากโปรแกรมกราฟิกต่างๆ เช่น Adobe PhotoShop, Macromedia Flash, GIF Animation ศึกษาจาก http://www.nectec.or.th/courseware/graphics

หลายท่านคงสงสัยว่าทำไหมผมถึงแนะนำให้ศึกษาทฤษฏีการพัฒนาเว็บ แล้วต่อด้วยการออกแบบกราฟิก แทนที่จะเป็นการสร้างเว็บ เนื่องจากเว็บที่น่าสนใจ จะต้องใช้สื่อกราฟิกเป็นจุดเชื่อม หากเว็บนั้นมีแต่เนื้อหาล้วน ก็คงไม่ดึงดูดเท่าเว็บที่มีกราฟิกมาผสมผสาน ดังนั้นกราฟิกจึงเป็นหัวใจหลักของการพัฒนาเว็บให้น่าสนใจ โดยเฉพาะเว็บการเรียนรู้ซึ่งต้องยอมรับว่าทำให้เป็นจุดสนใจได้ยากมาก

เมื่อสามารถออกแบบกราฟิกประกอบเว็บได้แล้ว ก็ต่อด้วยการสร้างเอกสารเว็บ ในปัจจุบันก็คงหนีไม่พ้นการใช้ซอฟต์แวร์ประเภท HTML Generator แทนการลงรหัสคำสั่ง HTML และซอฟต์แวร์ยอดฮิตในการสร้างเว็บยอดฮิตได้แก่ Macromedia Dreamweaver ลองศึกษาได้จาก http://www.nectec.or.th/courseware/internet/dreamweaver อย่างไรก็ตามก็ควรศึกษาภาษา HTML เพื่อให้ทราบโครงสร้างของเอกสารเว็บ เนื่องจากการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับเอกสารเว็บ ก็ยังต้องอาศัยภาษา HTML และภาษาอื่นๆ ในลักษณะการลงรหัส เช่น ถ้าคุณต้องการลงส่วนควบคุมการนับจำนวนผู้ชมเว็บไซต์ (Web Counter) ซึ่งเมื่อลงทะเบียนขอใช้บริการ Free Web Counter ท่านจะได้รหัสคำสั่งมาชุดหนึ่ง การนำรหัสนี้ไปใส่ในเอกสารเว็บมักจะต้องใช้การลงรหัสมากกว่าการทำงานจาก HTML Generator

นอกจากนี้ภาษา JavaScript และการควบคุมรูปแบบการแสดงผล เช่น จอสีแถบเลื่อนข้อมูล (Scroll Bar) สีของตัวอักษร จุดลิงก์ ตาราง ก็จะควบคุมด้วยความสามารถที่เรียกว่า Style Sheet ซึ่งสร้างจากชุดคำสั่ง CSS ก็เป็นอีกเนื้อหาที่ท่านต้องศึกษาแน่นอน

ยังไม่พอน่ะครับ ต่อจากนี้ก็คงต้องศึกษาเทคนิคการใช้งานโปรแกรมในชุด Microsoft Office เพื่อช่วยให้การสร้างเอกสารเว็บทำได้สะดวก รวดเร็ว เช่น ทำอย่างไรจึงจะนำข้อมูลใน Table หรือ Spreadsheet มาแปลงเป็นตารางสำหรับเว็บได้รวดเร็ว แทนที่จะต้องมาพิมพ์ใหม่ทุกครั้ง ต้องการนำเสนอสไลด์จาก PowerPoint บนเว็บ กระทำได้อย่างไร เป็นต้น ไม่ยากเลยครับ ลองเปิด Microsoft PowerPoint แล้วเปิดไฟล์สไลด์ที่ท่านมีสักไฟล์สิครับ ท่านจะพบคำสั่ง File, Save as Web Pages ให้เลือกใช้งานแน่นอน คำสั่งนี้แหล่ะครับ คำสั่งที่ช่วยในการสร้างชุดนำเสนอบนเว็บได้อย่างมีประสิทธิภาพ และรวดเร็ว

เอกสาร PDF หรือ Portable Document Format ที่สร้างจาก Adobe Acrobat ก็เป็นอีกลักษณะหนึ่งที่นำมาใช้บนเว็บ การสร้างเอกสาร PDF จึงเป็นเนื้อหาที่ควรศึกษาอีกเนื้อหาหนึ่งด้วย

สุดท้ายก็คงต้องศึกษาเกี่ยวกับ Web Server ถ้าคุณใช้บริการ Free Web Hosting หรือ Web Hosting จาก ISP ก็ศึกษาวิธีการสมัครสมาชิก การนำเอกสารเว็บโอนเข้าไปใน Web Hosting แต่ถ้าคุณต้องการติดตั้งระบบ Web Hosting เอง ก็คงต้องศึกษาเกี่ยวกับระบบปฏิบัติการ เช่น Microsoft Windows 2000 หรือ UNIX เช่น RedHat, Linux SIS ต่อด้วยระบบรักษาความปลอดภัยมั่นคงของระบบ เพื่อป้องกันไวรัส การบุกรุกด้วย Hacker เป็นต้น

e-Learning พร้อมระบบ LMS/LCMS

e-Learning พร้อมระบบ LMS (Learning Management System) หรือระบบติดตาม/บริหารการเรียนรู้ หรือระบบ LCMS (Learning & Content Management System) เป็น e-Learning ขั้นสูงขึ้นมา ที่มีระบบสมาชิก ระบบติดตามการเรียนรู้ของผู้เรียน หลักสูตรเนื้อหา การพัฒนา e-Learning ระบบนี้ ก็ควรจำแนกเป็นกลุ่มบุคคลได้ดังนี้

  • กลุ่มผู้บริหารระบบ (Administrator)
  • กลุ่มอาจารย์ ผู้สร้างเนื้อหาการเรียน (Content Developer)
  • กลุ่มผู้เรียน (Student)

เริ่มจากกลุ่มผู้บริหารระบบก่อน ก็คงคล้ายๆ กับรูปแบบที่แนะนำก่อนหน้านี้ แต่ก็ต้องศึกษาเพิ่มเติมในเรื่อง Database และ Web Programming โดยแบ่งได้ตาม OS ที่เลือกใช้งาน เช่น ถ้าคุณเลือกใช้ Microsoft Windows ก็ควรศึกษา Microsoft Access ควบคู่กับ ASP และถ้าคุณเลือกใช้ UNIX ก็ศึกษา MySQL ควบคู่กับ PHP เป็นต้น

สำหรับกลุ่มอาจารย์ ผู้สร้างเนื้อหาการเรียน ก็ศึกษาลักษณะเดียวกับที่แนะนำไปแล้วเช่นกัน กลุ่มนักเรียนก็เป็นวิธีการสมัครสมาชิก การใช้บริการเว็บ

ตัวอย่างหลักสูตรฝึกอบรมสำหรับผู้บริหารระบบ

  • ความรู้เกี่ยวกับ e-Learning และเทคโนโลยีเว็บ 1 วัน
  • การติดตั้ง/บริหารระบบปฏิบัติการ 2 วัน
  • ระบบรักษาความปลอดภัย ระบบเครือข่าย 3 วัน
  • การติดตั้งและพัฒนาระบบโปรแกรมมิ่งด้วย ASP หรือ PHP 3 วัน
  • การบริหารจัดการฐานข้อมูล Microsoft Access, MySQL 2 วัน
  • การติดตั้ง/บริหาร LMS/LCMS เช่น Moodle หรือ PHPNuke 3 วัน
  • ภาคฝึกปฏิบัติ 1 วัน

ตัวอย่างหลักสูตรฝึกอบรมสำหรับครู อาจารย์

  • ความรู้เกี่ยวกับ e-Learning และเทคโนโลยีเว็บ 1 วัน
  • การสร้างงานกราฟิกสำหรับเว็บ 3 วัน
  • การสร้างสื่อมัลติมีเดียด้วย Macromedia Flash 3 วัน
  • การสร้างเอกสารเว็บ 3 วัน
  • การใช้งานระบบ LMS/LCMS 1 วัน
  • ระบบรักษาความปลอดภัย ระบบเครือข่าย 1 วัน
  • ภาคฝึกปฏิบัติ 2 วัน

ตัวอย่างหลักสูตรฝึกอบรมสำหรับนักเรียน

  • ความรู้เกี่ยวกับ e-Learning และเทคโนโลยีเว็บ 1 วัน
  • การใช้งานระบบอินเทอร์เน็ต 1 วัน
  • การใช้ระบบ e-Learning 1 วัน