NECTEC
NSTDA
Home
Computer
Program
Internet & Web
Graphics
CAI
Multimedia
Electrical Power
General Education
Special Education
Links
Webmaster
การศึกษาพิเศษ - Special Education
ความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้คอมพิวเตอร์ พัฒนาการเรียนการสอน สำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน

การนำคอมพิวเตอร์มาใช้เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กด้อยโอกาส ตลอดจนเด็กที่มีความบกพร่องด้านต่างๆ หรือเด็กพิการ ได้รับความนิยมกันอย่างแพร่หลาย หน่วยงานภาครัฐ เช่นกระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานเฉพาะกิจ เช่น เนคเทค (ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ) ภายใต้พระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธาน โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ ได้ให้ความสำคัญของคอมพิวเตอร์กับการศึกษา มีการจัดสรรงบประมาณ และครุภัณฑ์ต่างๆ เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ให้กับโรงเรียนในสังกัด กองการศึกษาสงเคราะห์ และกองการศึกษาเพื่อคนพิการ ทั้งคอมพิวเตอร์ในการเรียการสอน คอมพิวเตอร์ฝึกพูด สำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน คอมพิวเตอร์แบบเปร่งเสียง สำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางสายตา คอมพิวเตอร์มัลติมีเดีย สำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา และคอมพิวเตอร์ในงานต่างๆ ประกอบกันไป เช่น งานธุรการ งานบริหาร งานพัสดุ เป็นต้น

ปัญหาที่ตามมาของโรงเรียนแต่ละโรงเรียน คือ การนำคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่างๆ มาประยุกต์ใช้สอนให้กับนักเรียนในความดูแล เพราะหลายๆ โรงเรียนไม่ทราบว่า ควรสอนหลักสูตรอะไร เนื้อหาอย่างไร เพื่อเป้าหมายอย่างไร

คอมพิวเตอร์ในโรงเรียนโสตศึกษา

จากประสบการณ์ที่ได้สอนเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน หรือเด็กหูหนวก ในโรงเรียนเศรษฐเสถียร พบว่า เด็กหูหนวกมีทักษะสูงมาก ในงานที่เกี่ยวกับกราฟิก ไม่ว่าจะเป็น การวาดภาพ การออกแบบ การตัดเย็บ การทำเครื่องใช้ต่างๆ ที่เป็นงานฝีมือ งานหัตถกรรม แต่เด็กเหล่านี้จะมีจุดด้อยในเรื่องการใช้ภาษา ทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ เนื่องด้วยความรู้สึกที่ว่าภาษาหลัก คือ ภาษามือ ส่วนภาษาไทยเป็นภาษาที่สอง แตกต่างกับเด็กปกติทั่วไป ดังนั้นการใช้คอมพิวเตอร์ เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กหูหนวก ไม่ควรใช้หลักสูตรเดียวกับเด็กปกติ ที่เรียนวิชาการพิมพ์ (Word Processing) การคำนวณ (Spread Sheet) หรือโปรแกรมมิ่ง (Programming) แต่ควรนำคอมพิวเตอร์มาใช้พัฒนาทักษะเด่น อันได้แก่ ทักษะด้านงานศิลปะ

การใช้คอมพิวเตอร์เพื่อพัฒนาทักษะด้านศิลปะของเด็กหูหนวก มีหลายลักษณะ เช่น

  • คอมพิวเตอร์เพื่องานศิลปะอิสระ เช่น งานวาดภาพ เป็นการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อพัฒนาทักษะด้านการวาดภาพ โดยใช้โปรแกรมกราฟิกที่เกี่ยวกับการวาด เช่น Dr.Halo, Paint Brush, Adobe PhotoShop, Illustrator, FreeHand

  • คอมพิวเตอร์เพื่อออกแบบเครื่องใช้ต่างๆ ทั้งเครื่องไม้ เครื่องปั้น เครื่องปั้นดินเผา โรงเรียนโสตศึกษาหลายๆ โรงได้เปิดสอนวิชาเครื่องปั้น เครื่องไม้ หรือเครื่องปั้นดินเผา ตลอดจน เซรามิกค์ ซึ่งมักจะเริ่มต้นด้วยการออกแบบลวดลาย และออกแบบ ชิ้นงานบนกระดาษ หากมีการนำคอมพิวเตอร์มาช่วย จะเป็นการลดค่ากระดาษ ค่าสี และอุปกรณ์สิ้นเปลืองอื่นๆ ได้อีกเยอะ เพราะคอมพิวเตอร์ช่วยให้การออกแบบชิ้นลาย และลวดลาย กระทำได้ง่าย สะดวก เห็นผลลัพธ์ทันที โปรแกรมกลุ่มนี้ เช่น Dr.Halo, Paint Brush, Corel Draw

  • คอมพิวเตอร์เพื่องานออกแบบบ้าน และตกแต่ง การใช้คอมพิวเตอร์เพื่องานออกแบบบ้าน และตกแต่งบ้านมีมานานแล้ว เรียกว่า CAD (Computer Aided Design) ซึ่งหากมีการสอนวิชานี้ให้กับเด็กหูหนวก ก็จะช่วยให้เปิดโอกาสด้านการงานให้เด็กกลุ่มนี้ได้ด้วย โปรแกรมในกลุ่มนี้ ได้แก่ Turbo CAD, AutoCAD

  • คอมพิวเตอร์เพื่อออกแบบลายผ้า แบบเสื้อผ้า และงานที่เกี่ยวข้อง การใช้คอมพิวเตอร์เพื่อออกแบบงานลักษณะนี้ จะเกี่ยวกับงาน Design เสื้อผ้า ตลอดจนวัตถุอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเช่น กระเป๋า ซองใส่เอกสาร ซองใส่แว่นสายตา เป็นต้น โดยการออกแบบสามารถกระทำได้ตั้งแต่ ขั้นตอนการออกแบบชิ้นงาน การออกแบบ ลวดลาย การออกแบบลายปัก โดยมีโปรแกรมสำเร็จรูปหลายโปรแกรมมาช่วย เช่น โปรแกรมออกแบบลายปัก หรือครอสติส และยังสามารถนำโปรแกรมกลุ่มอื่น มาช่วย เช่น Dr. Halo, Paint Brush, FreeHand, Illustrator เป็นต้น

  • คอมพิวเตอร์เพื่อออกแบบสัญลักษณ์ (Logo) และตัวอักษรศิลป์ งานออกแบบสัญลักษณ์ และอักษรศิลป์ เป็นงานศิลป์ที่ทำรายได้ดีมากในปัจจุบัน และโปรแกรมที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายได้แก่ Corel Draw, PageMaker

  • คอมพิวเตอร์กับงานกราฟิกเพื่อสื่อสิ่งพิมพ์ คอมพิวเตอร์กับสื่อสิ่งพิมพ์ก็เป็นงานที่มีการพัฒนาร่วมกันมานานแล้ว เช่น หนังสือพิมพ์ วารสารต่างๆ โปรแกรมที่ใช้ได้แก่ Adobe PhotoShop, Illustrator, PageMaker

หากมีการพัฒนาหลักสูตรต่างๆ ข้างต้น การจัดการเรียนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์ให้กับเด็กหูหนวก น่าจะได้ผลสัมฤทธิ์มากกว่าการนำหลักสูตรปกติมาใช้สอน

ความคิดเห็นนี้ ได้มาจากประสบการณ์ขณะที่เป็นครูอาสาสมัคร สอนวิชาคอมพิวเตอร์ ให้กับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน โรงเรียนเศรษฐเสถียร ช่วงปี พ.ศ. 2534 - 2537