NECTEC
NSTDA
Home
Computer
Program
Internet & Web
Graphics
CAI
Multimedia
Electrical Power
General Education
Special Education
Links
Webmaster
การศึกษาพิเศษ - Special Education
เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการ โดย วันทนีย์ พันธชาติ หน่วยปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาวิศวกรรมภาษาและซอฟต์แวร์

สถานภาพคนพิการในประเทศไทย

          เมื่อเปรียบเทียบมาตรการของรัฐบาล ที่ดำเนินการเพื่อคนพิการ ในประเทศที่เจริญแล้ว เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา กับประเทศไทย จะเห็นว่ามีความแตกต่างกันมาก คนพิการใน ประเทศสหรัฐอเมริกา สามารถเข้าเรียน ในสถานการศึกษา ได้เหมือนคนปกติ จนสามารถประกอบอาชีพได้ เป็นจำนวนมาก ถึงแม้แต่ละคน จะมีความพิการแตกต่างกันไป แต่รัฐก็ให้การสนับสนุน ด้านอุปกรณ์ ตามความจำเป็น ของแต่ละคนได้อย่างทั่วถึง โดยการออกพระราชบัญญัติ เพื่อคนพิการ เช่น The Enacment of the American with Disabilities Act ให้มีการบริการ ทางด้านสาธารณูปโภค เช่น ทางลาดสำหรับรถเข็น ทางเดินเท้า สำหรับคนตาบอด เครื่องหมายสัญญาณบอกทาง พาหนะในการเดินทาง อาคารที่คนพิการอาศัย ให้ติดตั้งลิฟต์ ที่ควบคุมด้วยแสงอินฟาเรด รวมถึงอุปกรณ์พื้นฐาน และขั้นสูงที่เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้า (electronic device) สำหรับใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน และการติดต่อสื่อสาร ส่วนประเทศไทยนั้น คนพิการส่วนใหญ่ ยังไม่ได้รับการสนับสนุน ส่งเสริม และอุดหนุน จากรัฐบาล ในฐานะที่เป็น บุคคลด้อยโอกาสในสังคม เท่าที่ควร เรายังพบเห็น คนพิการของเราส่วนมาก ยึดอาชีพขายล็อตเตอรี่ หรือไม่ก็ขอทาน ตามท้องถนนทั่วไป ส่วนน้อยเท่านั้น ที่จะมีโอกาส ได้รับการศึกษาสูงๆ จนสามารถประกอบอาชีพ เหมือนคนปกติทั่วไปได้ ทั้งนี้เนื่องมาจาก คนพิการเหล่านี้ จะต้องใช้อุปกรณ์พิเศษ ที่มีราคาแพง ที่บุคคลทั่วไปไม่สามารถจะซื้อเองได้ ในการอำนวยความสะดวก ต่อการดำรงชีวิต การศึกษา และการประกอบอาชีพ

          ปัจจุบันนี้ รัฐบาลไทย ได้พยายามให้ความช่วยเหลือคนพิการ โดยการออกพระราชบัญญัติ ฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2534 โดยมีคณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ เป็นผู้กำกับ ดูแล และวางนโยบายสำหรับ ฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ และกฎกระทรวง พ.ศ. 2537 ออกความตามใน พระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2534 ให้สถานประกอบการ ของเอกชนที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 200 คนขึ้นไป รับคนพิการ ที่สามารถทำงานได้ ในอัตราลูกจ้างทั้งหมดทุก 200 คนต่อคนพิการ 1 คน เศษของทุก 200 ถ้าเกิน 100 คนต้องรับเพิ่มอีก 1 คน ซึ่งเป็นการช่วยเหลือคนพิการ ให้ประกอบอาชีพได้ อย่างไรก็ตาม การออกพระราชบัญญัติ ก็เป็นเพียงการผลักดันให้สังคม เข้ามามีส่วนรับผิดชอบ ส่งเสริม และสนับสนุนกลุ่มบุคคลที่ด้อยโอกาสนี้มากขึ้นเท่านั้น

          จากความพยายามของภาครัฐ ที่ต้องการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ ทั้งทางการแพทย์ การศึกษา อาชีพ และสังคม โดยการจดทะเบียนคนพิการ ทั่วประเทศ เพื่อให้สิทธิคนพิการ เข้ารับบริการ ฟื้นฟูสมรรถภาพ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ในการรักษาพยาบาล และการซื้ออุปกรณ์ สำหรับคนพิการแต่ละประเภท แต่มาตรการเหล่านี้ แก้ปัญหาได้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ปัญหาที่แท้จริงคือ ทำอย่างไรที่จะจัดหา หรือพัฒนา เครื่องมือ อุปกรณ์ที่จะสนับสนุน ส่งเสริมคนพิการ ให้สามารถดำรงชีวิต ในสังคมร่วมกับคนปกติได้ โดยไม่เป็นภาระกับผู้อื่น สามารถเข้ารับการศึกษา จนถึงขั้นสูงสุดได้ และประกอบอาชีพได้ เช่นเดียวกับคนปกติ ความมุ่งหวังเช่นนี้ จะบรรลุผลได้โดยการใช้เทคโนโลยี มาพัฒนาขีดสามารถของคนพิการ ให้ทัดเทียมคนปกติ เทคโนโลยีที่ว่านี้ก็คือ เทคโนโลยีสารสนเทศ

การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการ

          หลายท่านอาจสงสัยว่า เทคโนโลยีสารสนเทศ เข้ามาเกี่ยวข้องกับ การพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ได้อย่างไร เพราะว่าเป็นคำศัพท์ใหม่ ที่พวกเราพึ่งจะคุ้นเคยกัน เมื่อไม่นานมานี้เอง ดังนั้นจึงขออธิบายคำว่า "เทคโนโลยีสารสนเทศ" ไว้ว่า เป็นเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการจัดหา จัดการ ประมวล จัดเก็บ เรียกใช้ แลกเปลี่ยน หรือเผยแพร่สารสนเทศ ด้วยเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ หรือการนำสารสนเทศ และข้อมูลไปปฏิบัติ ตามเนื้อหา ของข้อมูลนั้น เพื่อบรรลุเป้าหมายของผู้ใช้ ดังนั้นจึงครอบคลุมถึง หลายๆเทคโนโลยีหลัก อันได้แก่ เทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์ ทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และฐานข้อมูล เทคโนโลยีโทรคมนาคม และ เทคโนโลยีด้านอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ

          สังคมปัจจุบันเป็นสังคมยุคข่าวสาร หรือยุคสารสนเทศ เทคโนโลยีการติดต่อสื่อสาร เป็นไปอย่างไร้พรมแดน แม้กระทั่งคนพิการ ก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ในสังคมยุคสารสนเทศนี้ ได้ด้วยการพัฒนาอุปกรณ์ เครื่องมือที่ทันสมัย ในการเข้าถึงเครือข่ายคอมพิวเตอร์ หรือเครื่องมือสื่อสารพิเศษ ให้กับคนพิการ แต่ละประเภท เช่น แต่เดิมคนตาบอดสื่อสาร กันด้วยเสียงพูด หรืออ่านหนังสือ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ด้วยหนังสือเสียง ที่บันทึกเทปไว้เป็นเรื่องๆ หรือ อ่านหนังสือ ที่พิมพ์ด้วยอักษรเบรลล์ ซึ่งมีความหนามาก และมีปัญหาเรื่องเนื้อที่ใช้ในการเก็บ ปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศ ก่อให้เกิดการการพัฒนา แป้นคีย์คอมพิวเตอร์ สำหรับคนตาบอด การสังเคราะห์เสียงพูด เพื่อช่วยอ่านหนังสือ และการรู้จำตัวอักษร เพื่อการอ่าน ตัวอย่างของ เทคโนโลยีสารสนเทศเหล่านี้ ส่งผลให้คนตาบอด สามารถเรียนรู้ทุกเรื่องได้ง่าย สะดวก และรวดเร็ว รวมทั้งด้านการป้อนข้อมูลเข้าคอมพิวเตอร์ และการแสดงผลผ่านคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์เหล่านี้ จะช่วยให้คนตาบอด ได้รับสิทธิเท่าเทียมกับคนตาดี ในด้านการศึกษา การติดต่อสื่อสาร ซึ่งในที่สุดสังคมเรา ก็จะได้พลเมืองที่มีคุณภาพกลับคืนมา เพื่อทำงานช่วยเหลือ และพัฒนาประเทศชาติต่อไป

          ในบทความต่อไปนี้ จะกล่าวถึง การนำเทคโนโลยีสารสนเทศ มาพัฒนาเป็นเครื่องมือ หรืออุปกรณ์สำหรับคนพิการแต่ละประเภท ซึ่งในที่นี้จะขอแบ่งเป็น 6 ประเภทตามเทคโนโลยีที่ใช้ดังนี้

เทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับคนพิการทางการมองเห็น

          คนพิการทางการมองเห็น หมายรวมถึง คนตาบอด, คนที่มีความบกพร่องทางสายตา หรือคนหูหนวก-ตาบอด ปัญหาของคนกลุ่มนี้คือ การมองไม่เห็น หรือมองเห็นเลือนลาง ดังนั้นพวกเขาต้องการ เครื่องมืออุปกรณ์ที่สามารถ ทดแทนสายตาของเขาได้ เพื่อประโยชน์ในการดำรงชีวิตอยู่ อุปกรณ์ขั้นพื้นฐาน ที่สามารถพึ่งตัวเองได้ ได้แก่ นาฬิกาพูดได้ เครื่องคิดเลขพูดได้ เครื่องเบิกเงิน (ATM) พูดได้ เป็นต้น

          ในต่างประเทศ เทคโนโลยีสารสนเทศ ที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต คนตาพิการมีมากมาย และผลิตออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ สำหรับคนตาพิการโดยเฉพาะ ในที่นี้จะขออธิบายถึง อุปกรณ์บางอย่าง ที่จำเป็นสำหรับคนพิการ ในเมืองไทยที่จะได้ใช้ประโยชน์ ทั้งนี้ก็ต้องพึ่งความรู้ ความสามารถ ของบรรดานักวิจัยไทย ที่จะหันมาพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านนี้ เพื่อคนพิการเหล่านี้บ้าง

  • โน้ตบุ้คคนตาบอด (Portable Notetakers) เป็นอุปกรณ์ที่คนตาบอด สามารถพกพาไปไหนมาไหน เพื่อทำงานนอกสถานที่ได้ เช่นเดียวกับโน้ตบุ้คคนตาดี แต่มีลักษณะพิเศษคือ แป้นพิมพ์เป็นแป้นพิมพ์เบรลล์ และสามารถแปลงรหัสเบรลล์ เป็นอักษรธรรมดาได้ มีลักษณะพิเศษคือ มีความสามารถอ่านออกเสียงได้ และมีฟังก์ชันการทำงานเหมือน เครื่องบันทึกส่วนบุคคล (Organizer) สามารถบันทึกการพิมพ์ได้ เหมือนตัวประมวลคำ (Word processor) สามารถสั่งพิมพ์ข้อความได้

  • เครื่องรู้จำอักขระด้วยแสง (Optical Character Recognition) เครื่องนี้มีความสามารถในการอ่านอักขระ และกราฟฟิกของสิ่งพิมพ์ โดยสามารถแปลงข้อมูลที่ป้อนเข้า( input) เป็นข้อมูล output ได้ 3 อย่างคือ
    • ไฟล์คอมพิวเตอร์ ผู้ใช้สามารถเก็บบันทึกได้ และอ่านได้ด้วยเครื่องอ่านอักขระ
    • เสียงพูด ผู้ใช้สามารถรับรู้สิ่งพิมพ์ที่ผ่านเครื่องนี้เป็นเสียงพูดได้ในเวลานั้นๆ
    • อักษรเบรลล์ ผู้ใช้สามารถต่ออุปกรณ์นี้กับอุปกรณ์อ่านอักษรเบรลล์ และสามารถอ่านได้ในเวลานั้น

    ความก้าวหน้าอีกประการหนึ่ง ของเครื่องมือนี้ คือการต่อเข้ากับเครื่องอ่านหนังสือ ที่สามารถบอกรูปแบบ หน้า ลักษณะรูปภาพ ของหนังสือไปแต่ละหน้า เหมือนกับได้มองเห็นหนังสือจริงๆ ได้

  • โปรแกรมอ่านหน้าจอ (Screen Reading Program) โปรแกรมนี้เป็นซอฟต์แวร์ ที่สามารถแปลงไฟล์คอมพิวเตอร์ ให้เป็นเสียงสังเคราะห์ เพื่ออ่านข้อความ ที่ปรากฏบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ สามารถช่วยให้คนตาบอด ใช้คอมพิวเตอร์ได้เหมือนคนปกติทุกอย่าง เพราะทราบว่า จะทำงานที่โปรแกรมไหน และเลือกฟังก์ชัน ได้ตามเสียงสังเคราะห์ที่ได้ยิน ปัจจุบันมีผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ที่ใช้ได้ทั้งแมคอินทอช (Macintosh) วินโดวส์ 3.1 และ วินโดวส์ 95 ได้แล้ว

  • Descriptve Video Service หรือการบริการบรรยายภาพในการดูวิดีทัศน์ โดยไม่รบกวนเสียงในภาพยนต์ การบริการเช่นนี้ จะช่วยให้คนตาบอด สามารถรับรู้ภาพแวดล้อม ในภาพยนต์ด้วยการบรรยายภาพประกอบ ทำให้ได้รสชาติเช่นเดียวกับตามองเห็น

  • Telephone Communication Devices (TDD) อุปกรณ์การสื่อสารทางโทรศัพท์ สามารถต่อเข้ากับแป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ ทั้งธรรมดา และแป้นอักษรเบรลล์ และสามารถแสดงข้อมูล ได้ทั้งอักษรเบรลล์ และภาษามือได้ อุปกรณ์นี้ยังสามารถช่วยให้คนหูหนวก และคนตาบอดติดต่อสื่อสารกันได้

  • โทรทัศน์วงจรปิด (Closed Circuit Television- CCTV) เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยให้ คนที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น สามารถมองเห็นภาพ หรือตัวอักษร โดยการขยายสิ่งพิมพ์ให้ใหญ่ขึ้น ปัจจุบัน CCTV เพิ่มคุณสมบัติใหม่คือมี optional keypads ที่สามารถ display เวลา วันที่ และรายการโทรศัพท์ได้

เทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับคนพิการทางกาย

          บุคคลที่ร่างกายพิการ สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ด้วย เทคโนโลยีสารสนเทศเช่นเดียวกัน การที่คนพิการแขน-ขา จะใช้คอมพิวเตอร์ หรือจะสื่อสารกับบุคคลอื่นๆได้ มีเทคโนโลยีดังต่อไปนี้ช่วย

Special Keyboard

  • Control Interface หมายถึง เครื่องควบคุมการทำงาน ที่คนพิการทางร่างกาย สามารถควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ ที่อยู่รอบตัวได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากผู้อื่น เช่น การเชื่อมต่อเครื่องควบคุมทั้งหลาย ไว้อยู่ในแผงเดียวกัน สามารถบังคับ หรือควบคุมปุ่มที่ทำหน้าที่ต่างๆ กันได้ โดยใช้ตัวควบคุมเป็น
    • Switch กรณีที่มือหรือขาใช้ได้ ซึ่งอาจเป็น single หรือ dual switch โดยใช้ แขน หรือ ขา กด
    • Infared or ultrasonic transmission เป็นเครื่องมือบังคับควบคุมอุปกรณ์ เช่น คอมพิวเตอร์โดยใช้การเคลื่อนไหวของสายตา หรือใช้ dental plate สวมไว้ในปาก และควบคุมโดยการใช้ลิ้นแตะ
    • Special electronics on a wheelchair เป็นเครื่องมือบังคับควบคุมรวม ที่สามารถควบคุมการทำงานของเก้าอี้เข็น รวมทั้งอุปกรณ์แวดล้อม คอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์การสื่อสารอื่นๆได้ เครื่องควบคุมนี้สามารถจ่ายพลังงานให้กับคอมพิวเตอร์แบบพกพาซึ่งต่อไว้กับรถเข็น โดยใช้แบตเตอรี่ของรถเข็นได้
  • Automobile Control เป็นเครื่องควบคุมรถยนต์ซึ่งดัดแปลงให้ใช้กับคนพิการบางคนที่ต้องการขับรถด้วยตัวเอง
  • Functional Electric Stimulation เป็นอุปกรณ์ที่คนพิการ ที่ได้รับบาดเจ็บที่กระดูกสันหลัง สามารถเดินได้โดยใช้ อุปกรณ์นี้ผ่านคอมพิวเตอร์
  • Robotic Aids เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยลดภาระการดูแลคนพิการ โดยใช้การทำงานของหุ่นยนต์ เช่น ช่วยเปิดหน้าหนังสือ ยกหูโทรศัพท์ ถือหูโทรศัพท์ให้ หยิบของจากตู้เย็น หรือป้อนอาหาร
  • Environmental Control Units เป็นอุปกรณ์สำหรับคนที่พิการสาหัส โดยช่วยบังคับควบคุมเตียงนอน โทรศัพท์ โทรทัศน์ และอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ โดยไม่ต้องลุกจากที่ นอกจากนี้ยังสามารถควบคุมลิฟต์ ที่ติดตั้งอุปกรณ์สัญญาณอินฟาเรดได้ด้วย
  • Ergonomic Keyboards การที่คนพิการทางร่างกาย จะใช้คอมพิวเตอร์ได้นั้น ต้องมีการดัดแปลงแป้นพิมพ์ ให้เข้ากับความพิการของแต่ละคน เช่นมีการปรับขนาด ความสูง มุม ให้พอดีกับความต้องการเฉพาะคน อาจจะมีการปรับตัวอักษรบนแป้น ให้วางตามความถี่ของการใช้ หรือแบบ DVORAK เพื่อเพิ่มความเร็วในการพิมพ์
  • Speech Recognition เป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยให้ ผู้ใช้เลือกวิธีการที่จะป้อนข้อมูลเสียง ให้กับคอมพิวเตอร์ โดยที่เครื่องจะรับคำสั่งจาก เสียงพูดของผู้ใช้ เช่น คำสั่งการใช้งานเบื้องต้นของ DOS หรือ Windows ปัจจุบันซอฟต์แวร์นี้ มีการพัฒนาให้สามารถรับเสียงได้ โดยไม่จำกัดเพศ และวัย ซึ่งเป็นประโยชน์กับ ผู้พิการแขนขาอย่างมาก ที่สามารถใช้เสียงพูดในการสั่งงานได้เลย
  • Word prediction เป็นซอฟต์แวร์ที่ช่วยในการพิมพ์งาน โดยสามารถลดจำนวนสโตรค์การพิมพ์ เพราะโปรแกรมสามารถเดาว่า คำที่จะพิมพ์นั้นเป็นคำอะไร เพียงแต่ผู้ใช้คีย์อักษรขึ้นต้นเท่านั้น โปรแกรมจะเลือกกลุ่มคำศัพท์ ที่ขึ้นต้นด้วยอักษรนั้นๆ มาให้ ซอฟต์แวร์นี้ จะอำนวยความสะดวกอย่างมาก แก่ผู้ที่มีความพิการทางร่างกาย ที่มีปัญหาในการใช้อุปกรณ์ช่วยพิมพ์ เช่น ใช้สวิตซ์, mouthstick หรือ headstick

เทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับคนที่พิการทางการสื่อสารหรือสื่อความหมาย

          คนที่พิการทางการสื่อสาร หมายถึง ผู้ที่มีปัญหาทางด้านการออกเสียง ซึ่งสาเหตุอาจมาจาก ความผิดปกติของอวัยวะ หรือความผิดปกติ ทางด้านสมอง ทำให้ออกเสียงไม่ชัด เทคโนโลยีที่สามารถช่วยให้ คนพิการกลุ่มนี้สื่อสารกันรู้เรื่อง แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ

  • เครื่องมือช่วยในการฝึกพูด เครื่องมือนี้สามารถช่วยให้ ผู้ที่พิการทางด้านอวัยวะการออกเสียง หรือสมองบางส่วนพิการ สามารถเลียนเสียงการพูดได้ ซึ่งจะทำให้ผู้พิการนั้นได้รับการกระตุ้นที่ถูกวิธี และในที่สุดก็สามารถปรับปรุงเสียงพูดได้
  • เครื่องมือสื่อสารด้วยเสียง เครื่องมือนี้สามารถออกเสียงแทนผู้ใช้ โดยอาศัยบอรด์ที่มีภาพที่สื่อความหมายและเปล่งเสียงได้เมื่อกดไปที่ภาพนั้นด้วยอุปกรณ์สังเคราะห์เสียงพูด หรืออุปกรณ์บันทึกเสียง

          เครื่องมือนี้ช่วยผู้พิการทางการสื่อสารได้มาก โดยที่สามารถสื่อสารกับทุกคนตามที่ปรารถนา ทำให้เกิดการพัฒนาทางความคิดได้ ปัจจุบันนี้เครื่องมือนี้ พัฒนาไปจนสามารถเปล่งเสียงเป็นคำ วลี และประโยคได้ เพียงแต่กดปุ่มของภาพ ที่จะออกเสียง โปรแกรมจะสามารถสร้างเป็นประโยคเองได้

เทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับคนพิการทางการได้ยิน

          คนพิการทางการได้ยิน หมายความรวมถึง คนที่หูหนวก และหูตึง ซึ่งไม่สามารถได้ยินเสียง หรือได้ยินไม่ชัด ดังนั้นจึงส่งผลกระทบต่อการพูดด้วย เทคโนโลยีอย่างง่ายๆ ที่นำมาใช้สำหรับคนหูหนวกหูตึงนี้ ส่วนใหญ่ ก็จะเป็นการใช้เพื่อการเตือน (warning) เช่น การใช้แสงไฟ เมื่อมีเสียงโทรศัพท์ดัง หรือ นาฬิกาปลุกที่สั่นได้ หรือ สัญญานเตือนภัยที่เป็นแสงไฟเป็นต้น

  • FM Application System เป็นอุปกรณ์ช่วยการได้ยิน ในกรณีที่มีเสียงแวดล้อมดังรบกวน อุปกรณ์นี้จะช่วย ลดเสียงรบกวนได้ ไม่ว่าระยะทางระหว่างผู้พูดและผู้ฟังจะใกล้หรือไกล อุปกรณ์นี้ทำงานโดย ผู้ฟังจะพกตัวรับสัญญาณ (receiver) และผู้พูดจะพกไมโครโฟนติดตัว และผู้ฟังสามารถ ปรับสัญญาณเสียงของผู้พูดได้เช่นกัน
  • Telecommunication Devices for the Deaf เป็นโทรศัพท์ที่ใช้งานโดยคนหูหนวก ซึ่งคนหูหนวกสามารถสื่อสารได้ โดยใช้โทรศัพท์ ซึ่งใช้วิธีการพิมพ์ข้อความ เข้าไปแทนเสียง ส่วนทางด้านผู้รับ ก็จะเห็นภาพของด้านผู้ส่ง หรือสามารถพิมพ์ข้อความที่ส่งมานั้น ๆ ได้
  • Fax Machine หรือ Visual Paging Systems อุปกรณ์ของคนปกตินี้ ก็สามารถนำไปให้คนหูหนวกใช้งานได้ เพราะสื่อสารกันด้วย ข้อความ และภาพ เท่านั้น โดยไม่ต้องใช้เสียง เมื่อมีสัญญานเรียกเข้าเครื่องเพจ เครื่องก็จะสั่น แทนที่จะส่งสัญญานเตือน นอกจากนั้น เครื่องนี้ยังได้ออกแบบให้ สามารถเขียนโต้ตอบกันได้ในเวลาจริง คือทั้งสองฝ่ายมีเครื่องรับ-ส่งคนละตัว และส่งข้อความผ่านสายโทรศัพท์ ข้อความที่เขียน จะไปปรากฏทางฝ่ายผู้รับด้วย

เทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับคนพิการทางการรับรู้

          คนที่พิการทางการรับรู้ ได้แก่ คนที่มีการรับรู้ช้า ทั้งนี้เนื่องมาจากสมองพิการ ซึ่งทำให้พังก์ชันการสนใจ, การรับรู้, ความจำ, การตัดสินใจ การแก้ปัญหา และการให้เหตุผล ทำงานอย่างเชื่องช้า เทคโนโลยีที่นำมาช่วย คนพิการทางการรับรู้ก็ได้แก่ ซอฟต์แวร์ ต่างๆ ที่คนพิการกลุ่มนี้ สามารถใช้เตือนความทางจำได้ เพียงแต่กด สวิตช์ หรือแป้นพิมพ์เท่านั้น ซอฟต์แวร์เหล่านี้ได้แก่ เครื่องคิดเลข, ปฏิทิน,นาฬิกาบันทึกความจำ ซึ่งใช้เสียงอัดเทปเพื่อเตือนความทรงจำ

          ซอฟต์แวร์พจนานุกรม อรรถาภิธาน และการตรวจสอบตัวสะกด ก็จะช่วยให้คนพิการประเภทนี้ สามารถปรับปรุงการเขียนให้ดีขึ้น ซอฟต์แวร์การศึกษา โดยใช้มัลติมีเดีย ซึ่งผลิตออกมามากมาย เพื่อช่วยเรียบเรียงเรื่องรา วและสอนให้รู้จักรวบรวมความคิด ในการลำดับเรื่องราว และเวลาได้ถูกต้อง ก็สามารถช่วยฝึกทักษะการรับรู้ได้ดีขึ้น

เทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับคนพิการทางสติปัญญา

          คนที่บกพร่องทางสติปัญญานั้น เห็นได้จากการเรียนรู้ในวิชาเฉพาะต่างๆ ได้ช้า ทำให้ใช้เวลาเรียนรู้นานกว่าคนปกติ ดังนั้นสิ่งที่จะนำมาช่วย ในขึ้นพื้นฐานก็คือ การจัดเวลาเรียนให้เหมาะสม ส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่นำมาช่วยได้ก็คือ ซอฟต์แวร์ทางการศึกษา ในรูปแบบต่างๆ โดยมีการกระตุ้นให้เกิดการอยากเรียนรู้ ด้วยสีสัน เพลง และเสียงพูด เช่นบทเรียนมัลติมีเดียในปัจจุบัน นอกจากนี้ก็อาจนำเอาเทคโนโลยีอื่นๆ มาช่วย เช่น การรู้จำตัวอักษร, การรู้จำเสียงพูด, เครื่องอ่านอักขระ หรือ ซอฟต์แวร์อ่านหน้าจอ สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะช่วยให้ผู้เรียนมีสมาธิ และมีความสนใจในการเรียนรู้มากขึ้น

          การเปิดโลกคนพิการเข้าสู่สังคมสารสนเทศนี้ เป็นความรับผิดชอบของหน่วยงานรัฐบาล และสังคม ที่จะช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสกลุ่มพิเศษนี้ ซึ่งด้วยลำพังตัวพวกเขาเองนั้น พวกเขาไม่สามารถที่ก้าวไปด้วยตัวเองได้ ถ้าขาดปัจจัยทั้งทางด้านการเงิน ความรู้ในวิธีการ (know-how) ในการพัฒนาเครื่องมือ หรืออุปกรณ์ที่จะสื่อสารกับโลกว้างได้ เทคโนโลยีสารสนเทศ ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงสิ่งที่ต้องการแสดง ให้เห็นว่าถ้ารัฐบาล หรือหน่วยงานใด เห็นความจำเป็น และส่งเสริมให้มีการพัฒนาแล้ว ประโยชน์ที่ได้รับจะมากมายมหาศาล ด้วยจำนวนคนพิการในประเทศเรามีกว่า 1% ของประชาชนทั้งหมด ถ้าเราสามารถ จัดหาอุปกรณ์เหล่านี้ได้ ก็จะทำให้พวกเขามีความรู้ มีสิทธิ มีการศึกษาทัดเทียมกับคนดีๆ แล้วเราอาจจะได้คนที่มีคุณภาพ มารับใช้สังคมได้เป็นจำนวนมาก

บรรณานุกรม

Bristow, Diane C. and Gail L. Pickering. 1996. An Overview of Assistive Technology. an Unpublished paper presented at CSUN Conference 1996 Technology and Persons with Disabilities.