NECTEC
NSTDA
Home
Computer
Program
Internet & Web
Graphics
CAI
Multimedia
Electrical Power
General Education
Special Education
Links
Webmaster
CAI - CBT - WBT - E-Learning

ระบบเศรษฐกิจ/สังคมแห่งปัญญาและการเรียนรู้ (Knowledge Based Economy)

สืบเนื่องมาจากตลาดเงิน การค้าเสรี และความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งมีระบบเครือข่ายที่สามารถเชื่อมโยง การเข้าถึงข้อมูลโดยไร้พรมแดน ทำให้ทุกส่วนของสังคมนั้นเปลี่ยนแปลงไป มีคำใหม่ๆ เกิดขึ้น เช่น knowledge based economy, digital economy, information economy และ new economy คำเหล่านี้ล้วนแต่เน้น ความรู้ ข้อมูล ข่าวสาร ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเจริญเติบโต ทางเศรษฐกิจและการพัฒนาแบบยั่งยืน (sustainable) เกิดสังคมสารสนเทศ ธุรกรรมบนอินเทอร์เน็ต อุตสาหกรรมที่ต้องใช้พื้นฐานความรู้ในการผลิตและบริการ เพื่อให้ประเทศสามารถที่พึ่งพาตนเอง และสามารถแข่งขันในระดับโลกได้

นอกจากนั้น แนวคิดเรื่องสังคมเศรษฐกิจแห่งการเรียนรู้ ได้มีการกล่าวถึงกันมากในเวทีระหว่างประเทศ เช่น องค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจและพัฒนา หรือ Organization for Economic Cooperation and Development:OECD ได้เน้นมิติทางเศรษฐกิจมากที่สุด เพื่อเพิ่มผลผลิต เพื่มประสิทธิภาพการผลิตในการพัฒนา เพื่อให้ประเทศเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน มีความรู้เป็นปัจจัยการผลิต และการเรียนรู้เป็นกระบวนการที่สำคัญที่สุด ของการพัฒนา ธนาคารโลกหรือ World Bank มองว่าศูนย์กลางของปัญหา คือการขาดความรู้ ความรู้ที่มีคุณภาพและรวดเร็วกว่าคู่แข่งเป็นสิ่งสำคัญ APEC หรือ องค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิค เน้นระบบการผลิต การกระจายสินค้า การบริการและการใช้ความรู้เป็นปัจจัยสำคัญ สำหรับการก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ เพื่อเกิดการจ้างงานและความมั่งคั่ง ซึ่งต้องพึ่งพาความรู้สูง เน้นการใช้เทคโนโลยีเป็นสำคัญ สำหรับขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ ในที่ประชุม APEC ได้เน้นถึงการพัฒนาขีดความสามารถ ของคนเป็นหัวใจ และเป็นกุญแจ ที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ ให้ก้าวหน้าทันกับเศรษฐกิจใหม่ รัฐจึงต้องมีการวางโครงสร้างรากฐานให้คนทุกคน มีโอกาสได้รับการศึกษาและฝึกอบรม ที่สอดคล้องกับวิวัฒนาการของสังคม ที่เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ การศึกษาจึงต้องเป็น การร่วมมือกันทั้งภาครัฐ เอกชนและอุตสาหกรรม ให้พัฒนาคนมี่ทักษะในการประกอบอาชีพ และลดช่องว่างความแตกต่างของเทคโนโลยีโดยขยายโอกาสในการเข้าถึง

ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ทำให้ข้อมูลและข่าวสารมีการเชื่อมโยงติดต่อได้รวดเร็ว จึงต้องมีการพัฒนาศักยภาพทางกายภาพ และประสิทธิภาพสูงเพียงพอ ที่รองรับข้อมูลข่าวสารที่หลากหลาย สร้างโอกาสการรู้ข้อมูล และการกระจายข้อมูล ที่ทันสมัยอย่างทั่วถึง และมีคุณภาพ ส่งเสริมให้พื้นที่ห่างไกล สามารถเข้าถึง และสนับสนุนบทบาทการลงทุนของภาคเอกชน นำเทคโนโลยีไปใช้ในทุกส่วนของการทำงาน แต่ทั้งนี้ต้องเสริมสร้างกฎหมาย และกฎระเบียบที่มีความยืดหยุ่น ส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจที่เชื่อมโยง ทั้งธุรกิจต่อธุรกิจ และธุรกิจต่อผู้บริโภค มีนโยบายการลงทุนที่ชัดเจน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในภาคเอกชน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการบริหารการเงิน

ด้วยเหตุนี้ไอทีควรเป็นสิ่งแรกในการพัฒนา และรวบรวมในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ข้อมูลคือสิ่งที่สำคัญ ในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนา เน้นโครงสร้างความรู้ การพัฒนาฐานความรู้ ให้เชื่อมโยงกัน เพื่อสร้างความมั่งคั่งและเพิ่มคุณค่าของข้อมูล เศรษฐกิจยุคใหม่ของประเทศที่พัฒนาแล้ว ต่างก็ขึ้นกับความรู้และสารสนเทศ เป็นตัวผลักดันให้เกิดการเติบโต ของเศรษฐกิจในการเพิ่มผลผลิต มีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา เน้นเรื่องการศึกษาและการอบรม โดยรัฐควรจัดระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างทั่วถึง และมีมาตรฐานทั่วทุกภูมิภาค สนับสนุนให้แรงงานสามารถพัฒนาทักษะ และยกระดับฝีมือแรงงาน ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน เสริมสร้างให้ประชาชนพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามในยุคของเศรษฐกิจแห่งปัญญาและการเรียนรู้ ได้เกิดสภาวะของความเหลื่อมล้ำ ในความสามารถและ โอกาสของการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ซึ่งเป็นผลให้เกิดช่องว่างระหว่างผู้มีข่าวสาร และผู้ไร้ข่าวสาร ( information haves and have nots) หรือ ช่องว่างทางดิจิตัล ( Digital Divide) เป็นผลเนื่องจากการแพร่กระจายของเทคโนโลยีสารสนเทศ ไปยังประชาคมโลกที่ไม่ทั่วถึงและไม่เท่าเทียม ปัจจัยที่ก่อให้เกิดความไม่เสมอภาค ในการเข้าถึงสารสนเทศและความรู้ ซึ่งพิจารณาโดย

  • โครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศ
  • จำนวนผู้ใช้ไฟฟ้า
  • จำนวนผู้ใช้โทรศัพท์และโทรศัพท์มือถือ
  • การแพร่กระจายการใช้คอมพิวเตอร์
  • จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต
  • การใช้ดาวเทียม
  • ความแตกต่างในลักษณะของประชากร
  • รายได้
  • ระดับการศึกษา
  • ลักษณะของเชื้อชาติและวัฒนธรรม
  • เพศ
  • ถิ่นที่อยู่อาศัย
  • โครงสร้างทางครอบครัว
  • ภาษา
  • นโยบายการเปิดเสรี
  • นโยบายไอซีทีของประเทศ

ในประเทศไทยรัฐมีแนวทางให้ประชากร มีโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ( digital opportunities) ในการวางโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศ และคาดหวังว่าในยุคเศรษฐกิจใหม่ ต้องมีการกระจายสินค้า ยกเลิกการผูกขาดและควรมีความร่วมมือในภูมิภาคและนานาชาติ เน้นเครือข่ายเพื่อให้เกิดการกระจายไปสู่ท้องถิ่น โดยสินค้านั้นต้องมีคุณภาพ เน้นฝีมือแรงงานโดยเพิ่มความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ที่ขาดแคลน และเน้นการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึง เน้นคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา เน้นความโปร่งใสในการทำงา นและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน เน้นกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต และแสวงหาความรู้เพื่อให้เกิดการพึ่งพาตนเอง ส่งเสริมทางด้านวิจัยและพัฒนาอันจะทำให้การพัฒนาวิทยาศาสตร์ อยู่ในระดับชั้นแนวหน้าของโลก